เทคนิคการออมเงิน: คำแนะนำ 4 ข้อ หากหาเงินไม่พอกับรายจ่าย

 


เทคนิคการออมเงิน: คำแนะนำ 4 ข้อ หากหาเงินไม่พอกับรายจ่าย

หลังจากที่เรามาทำรายรับ- รายจ่ายในแต่ละวันจะทำให้เราทราบว่าเรามีงบประมาณติดลบหรือติดตัวแดงหรือไม่อย่างไร ถ้าเกิดงบประมาณติดลบสิ่งแรกที่ต้องคำนึงคือ การใช้เงินของเรา อาการที่เรียกว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง รายจ่ายมีมากกว่ารายรับ ซึ่งรายจ่ายบางอย่างก็เป็นสิ่งที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือเรียกว่าเป็นของใช้ฟุ่มเฟือยนั่นเอง ดังนั้น เรามีเทคนิคการแก้ไขรายได้ไม่พอกับรายจ่ายแบบที่ไม่ต้องมาปวดสมองทีหลัง โดยใช้หลักการวางแผนทางการเงิน และการวางแผนการเงินที่ดีควรคำนึงถึงความเป็นไปได้หรือความสมเหตุสมผล คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่เคยเป็นมาในอดีตและสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ ตลอดจนการดูแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตัวเราเองหรือครอบครัวเป็นสำคัญ เพราะแผนทางการเงินที่จัดทำขึ้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราจะนำมาใช้ควบคุมทิศทางการใช้จ่ายเงินของเราได้เป็นอย่างดีโดยวิธีดำเนินการมีดังนี้

1.       ต้องรู้รายได้ของตัวเอง

เวลาที่เราใช้อะไรจะต้องประมาณตัวเองว่าเรามีรายได้ในแต่ละเดือนเท่าไร มีรายได้ที่แน่นอนคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมดและมีรายได้ที่ไม่แน่นอนอีกเท่าไร เพื่อที่เราจะได้ทำการวางแผนการใช้เงินของเรา ได้อย่างเหมาะสม

2.       คำนวณรายจ่ายล่วงหน้า

เรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ เราควรที่จะคิดวางแผนเอาไว้เลยว่าเราจะใช้อะไร เท่าไร อย่างไรที่จำเป็นต้องใช้ จะต้องซื้อ ไมซื้อไม่ได้ และอะไรที่เราสามารถจะประหยัดได้ การวางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าจะช่วยให้เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

การคำนวณรายจ่ายล่วงหน้า เราควรที่จะแบ่งรายจ่ายออกเป็น 2 ประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ ได้แก่
1.       รายจ่ายประจำ ได้แก่ รายจ่ายที่สามารถบอกได้แน่นอนว่าในเดือน ๆ หนึ่งจะต้องจ่ายเท่าไร เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าประกัน
2.       รายจ่ายแปรผัน เป็นรายจ่ายที่เราจะต้องจ่ายทุกเดือน เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถที่จะควบคุมได้แน่นอน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันรถ และค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งรายจ่ายเหล่านี้เราไม่สามารถคำนวณให้แน่นอนได้ แต่เราสามารถที่จะพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ควรเรียงลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายว่ารายเดือนควรจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จะได้วางแผนในการแบ่งส่วนของค่าใช้จ่ายให้เพียงพอ

3.       ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารที่แพงแสนแพง หรือว่าขนมนมเนยที่ไม่จำเป็น ค่าแต่งตัวให้สวยงามดูดี ค่าใช้จ่ายสำหรับความบันเทิง เราต้องพิจารณาว่าอะไรไม่จำเป็นหรือว่าตัดได้ก็ควรตัด เมื่อเราตัดไปแล้วจะทำให้เรารู้สึกเลยว่า เงินของเราเหลือเยอะขึ้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการแก้ไขงบประมาณติดลบ

4.       หาเงินเพื่อเพิ่มรายได้
ช่วงสภาวะการเงินไม่ดีแบบนี้ ลองแปลงงานอดิเรกของคุณให้เป็นแหล่งทำเงินดูบ้าง คุณจะได้มีรายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำที่ทำให้กระเป๋าตังค์มีสภาพคล่องขึ้น นี่ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับการกำจัดตัวแดงในงบประมาณ

สรุป : การแก้ไขปัญหาทางการเงินติดลบมีอยู่ 2 วิธีคือ วิธีแรก ลดรายจ่าย วิธีที่สอง เพิ่มรายได้

    Choose :
  • OR
  • To comment