เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างชีวิต

 

เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างชีวิต


ในภาพยนตร์เรื่อง Arthur ดารานำชายคือดัดลีย์  มัวร์ เล่นเป็นพระเอก พูดว่า “เงินทำให้ผมยุ่งยากตลอดชีวิต ผมรวยตลอดมาก็จริง แต่ไม่เคยมีความสุขเลย” ลิซา  มิเนลลี ผู้เล่นเป็นนางเอกตอบว่า “ฉันจนมาตลอด แต่ก็มีความสุข” พอพูดจบ แม่ของพระเอกก็ตอบว่า “ฉันรวยมาตลอดชีวิต และก็มีความสุขเสมอ”
ทั้งสามความเห็นเป็นการแสดงว่า แม้คนไม่มีเงินก็มีความสุขได้ และคนมีเงินก็มีแต่ทุกข์ได้เช่นเดียวกัน มันขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้น รู้จักใช้เงินเพื่อความสุขของตนหรือไม่  เงินเป็นวิธีการ ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง ของการมีชีวิต เงินเป็นเพียงสะพานหรือเครื่องมือไปสู่การมีความสุขถ้ารู้จักใช้เงิน เงินไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของชีวิต

ประโยคง่าย ๆ อย่างนี้ก็จริง แต่คนจำนวนมากในโลกลืมไป นึกว่าเงินคือเป้าหมายของชีวิต จึงทำงานหนักดิ้นรนหาเงิน แต่เมื่อใช้เงินไม่เป็นก็หาความสุขจากเงินไม่ได้ เงินคือตัวกลางไปสู่ความสุข ไม่ใช่ตัวความสุข ถ้าเงินคือความสุขแล้วเหตุใดคนมีเงินจำนวนมากจึงทุกข์ใจ วิ่งหาหมอดูกันแน่นไปหมด  ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จะหาเงินอย่างไรเพื่อให้มี “สะพาน” ที่ยาวและแข็งแรง และไปถึงความสุข
การสร้าง”สะพาน” นั้นเป็นเรื่องที่พูดกันมามากมายแล้ว เช่นการ เรียนหนังสือ รู้จักเทคนิคหาเงิน มีอาชีพที่หาเงินได้คล่อง ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่มีการสอนอย่างเป็นทางการ แต่การเสริมสร้าง “สะพาน” นั้นไม่มีการสอนกันในห้องเรียน ผู้คนต้องเรียนรู้ด้วยความเจ็บปวด และคนมีปัญญาเรียนรู้จากความผิดของคนอื่น ในการเสริมสร้าง “สะพาน” ให้แข็งแรงนั้น มีกฎสำคัญอยู่อย่างน้อยสี่ข้อด้วยกัน

กฎข้อแรก  การหาเงินนั้นสำคัญ แต่การรู้จักใช้เงินย่อมสำคัญกว่า ไม่ว่าจะหาเงินได้มากเพียงใด ถ้าใช้จ่ายออกไปมากเท่าที่หามาได้ ก็จะไม่มีเงินออมเก็บไว้เลย สู้หาเงินได้ไม่มากนักแต่ใช้จ่ายน้อยไม่ได้ เพราะยังพอมีเหลือเป็นเงินออมอยู่บ้าง

กฎข้อที่สอง  ให้เงินออมที่มีนั้นทำงานรับใช้ เงินสดที่ออมได้นั้นมีแขน มีขา มันคลาน เดิน และวิ่งได้ด้วยตัวของมันเอง ถ้ารู้จักนำเงินนี้ไปลงทุนที่ก่อให้เกิดดอกผล ก็เหมือนกับการแตกออกเป็นแขนเป็นขามากขึ้น ใกล้ความเป็นกิ้งกือจนวิ่งได้อย่างรวดเร็ว การให้เงินออมทำงานรับใช้จะช่วยเพิ่มรายได้ขึ้นอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการทำงานตามปกติ นั่นก็คือมีรายได้จากการไม่ต้องออกแรกทำงานซึ่งมาจากการทำงานของเงินออมนั่นเอง

กฎข้อที่สาม  เงินสดคืออำนาจ การมีเงินสดในมือทำให้เกิดความคล่องตัวในการเลือกลงทุนและใช้จ่ายเพื่อทำให้เกิดความพอใจ ดังนั้นการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดเงินสดจึงมีความสำคัญ การใช้เงินเกือบทั้งหมดที่มีเพื่อลงทุนเก็งกำไร ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หุ้น อสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะถึงแม้จะมีมูลค่าบนกระดาษเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่มีเงินสดจริงที่จะทำให้ขาของมันงอกเงย

กฎข้อที่สี่  อำนาจเหนือเงิน หรือความสามารถในการหักห้ามใจตนเองในการใช้เงิน เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดเงินออมซึ่งเป็นฐานของการงอกเงยเกิดเป็นความมั่งคั่งขึ้นมาได้ ถ้าขาดวินัยในการใช้เงินแล้ว ต่อให้รวยแค่ไหนก็ยากจนได้

เงินไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของชีวิต ความสุขกายคือเป้าหมายของโลกียชนทั่วไป ซึ่งจะบรรลุได้ก็ด้วยการหาเงินและรู้จักใช้เงินเท่านั้นความสุขใจคือสว่าง สะอาด และสงบนั้น อาจถึงได้ด้วยการไม่มีเงินแต่ถ้าหาเงินเป็น ใช้เงินและสร้างความมั่งคั่งเป็นแล้ว ก็อาจได้มาทั้งความสุขกายและความสุขใจก็เป็นได้

    Choose :
  • OR
  • To comment