ไม่มีอะไรแพงกว่าของถูก

 

ไม่มีอะไรแพงกว่าของถูก

ของถูกนั้นใครก็เห็นว่าน่าซื้อ แต่ในหลายกรณีของที่ว่าถูกนั้นโดยแท้จริงแล้วโคตรแพง คนญี่ปุ่นมีคำกล่าวว่า “ไม่มีอะไรแพงกว่าของถูก” ข้อเท็จจริงนี้น่าใคร่ครวญสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  คำว่า “แพง” หรือ “ถูก” เป็นคำเปรียบเทียบ ของบางสิ่งที่ถือว่ามีราคาแพงสำหรับบางคน แต่ถูกสำหรับบางคน ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคนที่ทำให้มีการเปรียบเทียบที่ต่างกัน

ในกรณีของขนาดก็เช่นเดียวกัน “ใหญ่” หรือ “เล็ก” เป็นคำเปรียบเทียบ ถ้าเราเห็นภาพแตงโมที่ว่ากันว่าเป็นขนาดยักษ์โดด ๆ เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าใหญ่โตแค่ไหน แต่ถ้ามีการเอาสิ่งของบางอย่างที่เราคุ้นเคยกับขนาดไปวางเปรียบเทียบ เราก็จะรู้ได้ว่าแตงโมลูกนั้นมีขนาดใหญ่เพียงใด เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกครั้งที่ได้ยินคนพูดว่าของถูก ๆ จึงต้องไม่ลืมว่าเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบของแต่ละคนที่มีอำนาจซื้อไม่เท่ากัน อย่างไรก็ดี ในภาษาพูดเรามักลืมความหมายที่แท้จริงจนทำให้เป็นสาเหตุแรกของการที่ “ไม่มีอะไรแพงกว่าของถูก” กล่าวคือ รีบซื้อของโดยรวดเร็วอย่างขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบเมื่อได้ยินคนบอกว่าเป็นของถูก (คนขายนั่นแหละตัวดี เพราะต้องการขายของ) เมื่อซื้อมาแล้วจึงรู้ว่าไม่ได้ชอบมันนัก ไม่นำออกมาใช้ หรือใช้ไปอย่างแกน ๆ หรือจำใจให้คนอื่นไป ซึ่งทั้งหมดนี้คือการใช้เงินอย่างขาดประสิทธิภาพ

สาเหตุที่สอง ของปรากฎการณ์ของถูกกลายเป็นของแพงก็คือ เมื่อคิดว่ามันเป็นของถูกจึงซื้อหลายชิ้นกว่าตอนราคาปกติ เมื่อซื้อมามากชิ้นก็ต้องรีบใช้อย่างไม่แฮปปี้นัก เพราะกลัวมันหมดอายุ และบ่อยครั้งที่หมดอายุก่อนที่จะใช้หมดเสียด้วย เรียกว่าสูญเงินไปเปล่า ๆ เพราะซื้อของถูก  นอกจากนี้ของที่เราคิดว่าถูกมักทำให้เราตาโต หูอื้อ ตาลาย วิจารณญาณบิดเบี้ยวอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นอาการที่คนปกติทั่วไปเขาเป็นกัน เราซื้อเพราะเห็นถูก มิได้ซื้อเพราะเราชอบอย่างแท้จริง ดังนั้นโอกาสที่จะถูกใช้งานอย่างคุ้มค่ากับเงินจึงมีน้อยกว่า

สาเหตุที่สาม ของการกลายร่างจากถูกสู่แพงก็คือ ความจริงที่ว่า “ของถูกย่อมมีคุณภาพด้อยกว่าของแพง” เข้าทำนองที่คนไทยพันธุ์เฮซ (ไม่ใช่ เอช) พรรณนาว่า good no cheap และ cheap no good (ของดีไม่มีถูก และของถูกย่อมไม่ดี)นั่นแหละครับ  สุภาษิตไทยก็บอกว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” กล่าวคือ การเสียเงินซื้อของถูกนั้นบ่อยครั้งไม่ทำให้เกิดประโยชน์เท่าที่คาดหวัง เพราะคุณภาพเป็นปัญหา จนทำให้ดูเหมือนเป็นการจ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายทั้ง ๆ ที่ใจจริงนั้นต้องการประหยัด

ถ้าหลีกเลี่ยงปรากฎการณ์ “ไม่มีอะไรแพงกว่าของถูก” ได้ก็ต้องมีสติรู้จักความต้องการและอำนาจซื้อของตนเอง จะซื้อของใดก็ต้องเป็นเพราะชอบและเห็นประโยชน์ของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่ซื้อเพราะสักแต่เห็นว่าถูก เงินจะมิได้รับใช้ให้ความพอใจแก่เราเลย ถ้าหากเราเสียเงินซื้อของถูกมาเก็บไว้โดยไม่ใช้ หรือใช้ไปไม่นานก็แตกหักเสียหายจนใช้งานไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ สู้ยอกัดฟันซื้อของที่ราคาอาจสูง จำนวนน้อยชิ้น ที่ให้ประโยชน์ตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับกระเป๋าของเรายังจะดีกว่า...

    Choose :
  • OR
  • To comment