ไม่ใช่เรื่องยาก...ทำธุรกิจส่วนตัวแบบมืออาชีพ

 

ความฝันหนึ่งของคนเป็นมนุษย์เงินเดือน (ลูกจ้าง) คือการเป็นเจ้าของธุรกิจ มีรายได้ของตัวเองเป็นกอบเป็นกำ แม้ว่าธุรกิจของเราจะไม่ใหญ่โตมีรายได้มหาศาล แต่ก็พอใจที่จะรับเงินแบบพอเลี้ยงปากท้องของตัวเอง และได้ทำงานที่ทำแล้วมีความสุข

            เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่เพื่อนรู่พี่หลายต่อหลายคน เมื่อมีอายุงานประจำเกิน 10 ปี และอายุตัวเองเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว พวกเขามักจะมองหาหรือมาปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองควบคู่ไปกับงานประจำ เหตุผลส่วนใหญ่ก็คือ เพื่อเป็นงานรองรับตัวเองหลังจากเกษียณ  แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างเรา ไม่ยากสำหรับความคิดเช่นนั้นค่ะ เพราะเราสามารถเริ่มทำธุรกิจของตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ ควบคู่ไปกับงานประจำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอเงินทุนมากมาย ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะนั่นไม่ได้หมายถึงการเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการบ่มเพาะนิสัยมั่งคั่งในตัวเองอีกด้วย การเริ่มธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย หลายคนอาจจะบอกว่าทำยาก แต่ความเป็นจริงแล้วการทำธุรกิจส่วนตัวให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่จะทำได้ แต่ต้องมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนเท่านั้นเอง

สำรวจตัวเอง

            ค้นหาทักษะ ความสนใจ ไหวพริบ และประสบการณ์ที่มีอยู่ภายในตัวให้เจอ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาดูว่าธุรกิจอะไรเหมาะสมกับตัวคุณมากที่สุด ดูจากงานอดิเรกว่าชอบทำอะไรบ้าง เช่น ชอบตัดเสื้อ ทำอาหาร เย็บกระเป๋า ทำขนม ฯลฯ ก็เปิดร้านขายสินค้าตามสไตล์ของตัวเอง อย่างน้องที่รู้จักคนหนึ่งเขาทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ นอกจางานประจำแล้วเขาก็ไปรับเสื้อยึดสีพื้นจากประตูน้ำมา แล้วออกแบบทำสกรีนในสไตล์ของตัวเองแรก ๆ ก็อาศัยบอกเพื่อน ๆ และขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ตอนนี้มีออร์เดอร์จากลูกค้ามามากมาย จนจะทำแทบไม่ทันแล้วล่ะค่ะ

            เป็นความชอบส่วนตัว เช่น ชอบอยู่กับธรรมชาติ ก็อาจเปิดร้านขายต้นไม้ ชอบเลี้ยงสัตว์ ก็เปิดร้านขายสัตว์เลี้ยง หรือเปิดสปาให้บริการสัตว์เลี้ยงเป็นต้น พี่ช่างภาพที่สนิทกันก็เลือกที่จะเปิดร้านขายเสื้อผ้ามือสอง เพราะภรรยาเป็นคนชอบแตงตัวและซื้อเสื้อผ้าวัยรุ่น แต่พอมีเยอะขึ้นใส่ไม่ทัน บางตัวกองอยู่ก้นตู้ วันหนึ่งจัดตู้เสื้อผ้าใหม่ เขาทั้งคู่เลยปิ๊งไอเดียเอาเสื้อผ้ามือสองไปขายวันเสาร์-อาทิตย์ และรับซื้อเสื้อมือสองสภาพดีจากเพื่อน ๆ และตลาดโรงเกลือ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ครอบครัวอีกทาง

            ถนัดอะไรมากที่สุดในการทำงานที่ผ่านมา แล้วดึงข้อดีของคุณมาเป็นจุดเริ่มต้นทำธุรกิจ เช่น เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ ก็สั่งสินค้าหรือนำเข้าสินค้าที่น่าสนใจมาขายหรือหากใครไม่มีโอกาสไปเมืองนอก แต่อยากทำธุรกิจนี้ ขอแนะนำให้ผูกมิตรกับเพื่อนที่ทำงานบริษัททัวร์หรือสายการบิน อาจจะฝากซื้อสินค้าประหนึ่งมาใช้เอง หรือจะเจรจาต่อรองทำธุรกิจร่วมโดยคุณเป็นคนรับออร์เดอร์ ส่วนเพื่อนเป็นคนซื้อของมา แล้วค่อยมาแบ่งสรรกำไรกันอีกทีก็ตามตกลง วิธีทำธุรกิจแบบนี้ได้ไอเดียมาจากน้องนักศึกษาคนหนึ่ง เธอยินดีให้เลียนแบบไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ค่ะ

            มองเห็นแง่มุมทางการตลาด เช่น ในย่านที่คุณอยู่ยังไม่มีสินค้าชนิดนั้นขายเลย หรือไม่มีร้านเปิดให้บริการ แต่ใคร ๆ ก็อยากให้มี เช่น ร้านซักรีด ร้านอาหารตามนั่ง หรือร้านขายหนังสือ ครั้งแรกที่ซื้อบ้านในใจก็คิดว่าจะเปิดบริการร้านซักรีด แต่พออยู่ไปสักครึ่งปี เห็นมีร้านซักรีดทยอยเปิดกันทุกซอย แถมบางซอยมีตั้ง 2 ร้าน ส่วนร้านที่เปิดอยู่ก็เริ่มปิดตัวไปบ้างก็มี แบบนี้เห็นทีร้านในฝันคงจะไม่เป็นจริง หากอยากทำร้านซักรีดละก็ มีกูระแนะนำว่าต้องหาคอนโดเปิดใหม่ ที่แบ่งโซนเป็นพื้นที่บริการร้านค้าโดยเฉพาะจะเหมาะที่สุด เพราะเขาจะช่วยคุณบริหารจัดการเรื่องร้านค้าไม่ให้มีประเภทเดียวกัน

            ธุรกิจตามกระแสที่ใคร ๆ ต่างให้ความสนใจและได้รับความนิยม เช่น ร้านต่อขนตา ร้านต่อผม ร้านต่อเล็บ เป็นต้น แต่การทำธุรกิจแบบนี้คงต้องทำใจยอมรับว่าการแข่งขันจะสูงมาก และเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงของงเทรนด์ที่ค่อนข้างไปเร็วมาเร็ว  ธุรกิจที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่คุณมีไอเดียเจ๋ง ๆ ที่สามารถทำขายได้ ตอนแรก ๆ อาจจะเงียบเหงาก็อย่าเพิ่งถอดใจนะคะ แต่ให้เน้นทำการตลาด โดยการใช้สื่ออินเตอร์เน็ต เช่น Facebook เปิดร้านค้าออนไลน์หรือจะกระจายข่าวให้เพื่อน ๆ ช่วยบอกต่อก็ได้ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะเริ่มมีลูกค้าเข้ามาเองค่ะ

ประเมินความพร้อม

            หลายครั้งที่การเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ เรามักจะคิดไปถึงแต่เรื่องขั้นตอนและวิธีการ แต่การเดินทางเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นมีเรื่องราวสำคัญพอ ๆ กัน ฉะนั้นก่อนจะลงมือทำธุรกิจอย่างจริงจัง ลองตอบคำถามตัวเองก่อนว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน คุณมีเงินทุนในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่พอกำลังมองหาลู่ทางเก็บเงินเพิ่มอยู่หรือไม่ หรือมีเครดิตพอในการกู้เพื่อธุรกิจแล้วหรือยัง ทุกวันนี้ระบบการลงทุน SME มีให้เลือกมากมาย และหลาย ๆ ธนาคารต่างก็สนับสนุนการทำธุรกิจขนาดเล็ก เพียงแค่หาข้อมูลให้มาก แล้วลองปรึกษากับทางธนาคารดู นอกจากจะมีเงินทุนแล้ว ยังมีคนให้คำปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจแบบรอบด้านอีกด้วย คุณมีเวลาทุ่มเทให้กับธุรกิจมากน้อยแค่ไหน การเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ สักอย่าง จำเป็นต้องอาศัยแรงใจและการทุ่มเทแรงกายด้วย เหมือนการทำอาหาร หากเราจะทำแกงเขียวหวานให้อร่อย การเลือกซื้อพริกแกงสำเร็จรูปก็สามารถทำแกงเขียวหวานได้ แต่ถามว่าจะอร่อยเท่ากับการลงมือโขลกสด ๆ ใหม่ ๆ ไหม ก็คงไม่ แม้จะเหนื่อยกับการลงแรงโขลกเองตำเองทุกอย่าง แต่รสชาติที่ออกมาก็ย่อมคุ้มค่ากับการรอคอย

            คุณศึกษาธุรกิจของคุณมาเป็นอย่างดีแล้วหรือยัง ทุกวันนี้มีคอร์สการทำธุรกิจขนาดเล็กเปิดสอนมากมาย และยังมีการรวมกลุ่มผู้ทำธุรกิจขนาดเล็กด้วย คุณควรที่จะพาตัวเองไปเข้าคอร์สหรือกลุ่มนั้นเพื่อศึกษาแนวทาง ธุรกิจของคุณเป็นงานที่สามารถทำคนเดียวได้ หรือต้งอมีเพื่อนร่วมทีมด้วย ธุรกิจบางอย่างสามารถที่จะทำคนเดียวได้ เช่น สินค้า Hand Made เย็บกระเป๋า ทำควิสท์ ทำคุ้กกี้ บัญชี งานเขียน ฯลฯ แต่บางอย่างก็ต้องอาศัยการทำงานเป็มทีม เน จัดอีเว้นท์ ทำออแกไนซ์ ฯลฯ

            สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเริ่มจากการทำงานคนเดียวก่อน โดยรับงานเขียนบทความ สารคดี หรือถ่ายภาพ จากนั้นเมื่อมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และขยายของเขตการทำงานออกไปถึงกระบวนการจัดทำออกมาเป็นเล่ม ผู้เขียนจึงเริ่มคัดสรรทีมงานโดยมีการรับงานมาและกระจายให้ทีมงานช่วยกันทำ แต่งานทุกชิ้นต้องมาผ่านการตรวจสอบอีกครั้ง และงานเขียนบางชิ้นผู้เขียนยังเลือกที่จะลงมือทำเองด้วย
            ประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาจะสามารถช่วยจัดการปัญหาในการทำธุรกิจได้หรือไม่ การจะทำอะไรสักอย่างต้องรู้จริง รู้ทุกขั้นตอนการทำงานและสามารถที่จะคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าได้ว่าการกระทำแบบนี้จะส่งผลอย่างไร จริงอยู่ประสบการณ์ในการทำงานจะเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง แต่การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องมาจากประสบการณ์ของตัวเองเสมอไป เราสามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ จากประสบการณ์คนอื่นได้

วางแผนทำธุรกิจแบบมืออาชีพ
            ถ้าหากคุณมีความพร้อมในการทำธุรกิจแล้ว ถัดมาคือการวางแผนธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นคู่มือที่จะทำให้รู้ว่าธุรกิจของเราจะเดินไปทิศทางไหน ไอเดียชัดเจน ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจคุณควรจะมีคอนเซ้ปต์ชัดเจนว่าสินค้าที่คุณจะทำขายให้ใคร ขายแล้วพอเลี้ยงชีพหรือมีกำไรหรือเปล่า จากนั้นค่อยระดมกำลังสมองหาวิธีที่จะทำให้มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด  ศึกษาตลาด ก่อนลงทุนลงเงินในการทำธุรกิจทุกครั้ง ต้องรู้ว่าสินค้าที่จะผลิตหรือขาย เป็นสินค้าที่เหมาะกับตลาดแบบไหน ตรงใจลูกค้าหรือไม่ และมีความน่าสนใจพอสำหรับการเข้าไปลงทุนหรือเปล่า

            ทำเลที่ตั้ง สำรวจแหล่งจำหน่ายสินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าของเราเป็นเป้าหมาย ถ้าได้ทำเลดี ธุรกิจของคุณก็มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงตามไปด้วย หาเงินลงทุน ไม่ว่าธุรกิจคุณจะเล็กขนาดไหน บริษัททุกแห่งต้องมีเงินลงทุน ลองปรึกษากับหน่วยงานทางการเงินที่ส่งเสริมการลงทุนระดับย่อย ถ้าไอเดียของคุณดี คุณก็จะได้เงินกู้เพื่อการลงทุนอย่างไม่ยากเลย

            ระบบเงินทุน เป็นการวางแผนการเงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ช่วงปีแรกของการลงทุน บวกลบคุณหารกับรายได้ที่คุณจะได้รับ รายจ่ายแต่ละเดือนและเงินสดที่ต้องใช้ด้วย

            กระบวนการผลิตสินค้า ดูด้วยว่าคุณมีสินค้าหรือลูกค้าให้บริการมากน้อยแค่ไหน กำลังผลิตเพียงพอหรือเปล่า ระยะเวลาในการผลิตและการออกแบบสินค้าใหม่ ๆ ในแต่ละช่วงเวลาด้วย

            ตั้งเป้าหมาย เมื่อธุรกิจของคุณเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ให้ความใส่ใจในการตั้งเป้าหมายรายสัปดาห์ รายเดือน และครึ่งปีในใจ การแบ่งรายได้จากความสำเร็จแต่ละขั้น จะทำให้คุณมีกำลังใจและก้าวหน้าต่อไป เห็นหรือยังว่าการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ถ้าเรามีความฝันและความพร้อม ก็สามารถลงมือทำให้เป็นจริงกันได้เลย

          Money Tips : คิดจะลงทุนต้อง

            ถ้าคุณมีเงินออมสักก้อน และกำลังคิดว่าจะเอาไปลงทุนสักที แต่จะใช้เงินเท่าไรถึงจะพอดี ต้องตรวจสอบสิ่งต่อไปนี้

ดูว่ารายได้และรายรับ รวมทั้งหนี้สิน ทั้งหมดมีเท่าไร และคำนวณว่าจะเก็บเป็นเงินออมไว้เท่าไร เช็กว่าการลงทุนมีแบบไหนบ้าง แบบไหนเสี่ยงมาก แบบไหนเสี่ยงน้อย แล้วเลือกแบบที่ตัวเรารับได้ การลงทุนความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ ฝากประจำระยะสั้น กลาง และยาว การลงทุนความเสี่ยงปานกลาง เช่น ตั๋วแลกเงิน แต่ต้องลงทุนฝากเงินหลักล้านบาทขึ้นไป และถอนก่อนกำหนดไม่ได้ และความเสี่ยงสูง เช่น เล่นหุ้น กองทุนต่าง ๆ

            ติดต่อกับธนาคาร ซึ่งตอนนี้มีการลงทุนให้เลือกแตกต่างกันไป แต่ถ้าคนที่มีเงินเยอะและต้องการบริการแบบพิเศษ อยากได้คะแนะเรื่องการลงทุนจากผู้เชี่ยวชาญ แนะนำให้ติดต่อธนาคารที่มีการบริการวางแผนการลงทุนโดยเฉพาะ จะมีผู้จัดการการเงินคอยช่วยเหลือด้านการลงทุนแบบส่วนตัว ให้กับลูกค้าที่มีเงินลงทุนหรือเงินฝากกับธนาคาร 3 ล้านบาทขึ้นไป

    Choose :
  • OR
  • To comment