ธรรมะกับทุนนิยม

 

ในโลกนี้มีไม่กี่อย่างที่คงอยู่ได้ต่อเนื่องมาถึง 2,600 ปี รัฐไทยที่เราเริ่มนับกันในยุคสุโขทัยมีอายุไม่ถึง 800 ปี รัฐต่างๆ ที่เคยอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าได้ล่มสลาย หรือถูกกลืนไปเกือบหมด ศาสนาหลักอื่นๆ เช่น คริสต์ และอิสลาม ต่างเกิดขึ้นหลังพุทธศาสนาหลายร้อยปี ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่หลายคนจะสงสัยว่าพุทธศาสนาพิเศษอย่างไร จึงดำรงอยู่ได้ต่อเนื่องถึง 2,600 ปี และหลายคนคงสงสัยต่อไปอีกว่าพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไรในระบบทุนนิยมที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับธรรมะ เพราะทุนนิยมถือเอากลไกตลาดเป็นใหญ่ ส่งเสริมให้คนเอารัดเอาเปรียบ และเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกวัน 

สำหรับผมแล้วธรรมะกับทุนนิยมไม่ขัดแย้งกัน และผมยังเชื่ออีกว่าพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ต่อไปได้อีกนาน ทุนนิยมเป็นเพียงกฎของโลก หรือกติกาของสังคม ที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ โดยหวังว่าจะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น ถ้าเทียบกับอายุของพุทธศาสนาแล้ว ทุนนิยมเป็นเรื่องที่ใหม่มาก Adam Smith เขียนหนังสือเรื่อง The Wealth of Nations เพียงเมื่อ 236 ปีที่แล้ว ตลอดช่วงอายุ 2,600 ปีของพุทธศาสนา โลกได้ผ่านระบบสังคม และระบบเศรษฐกิจมาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสังคมแบบพอมีพอกิน ระบบทาสที่ถูกกษัตริย์และขุนนางปกครอง ระบบการค้าที่อาศัยเพียงการค้าต่างตอบแทน หรือระบบสังคมนิยม
ส่วนธรรมะตามหลักพุทธศาสนานั้น เป็นกฎของชีวิต หรือกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องของกายกับจิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ากฎของโลก หรือกติกาของสังคมมาก ตราบใดที่คนยังต้องเกิดแก่เจ็บตาย มีความสุขและความทุกข์ มีสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ หนีไม่พ้นว่าจะต้องอยู่ภายใต้กฎของธรรมะ ธรรมะของพุทธศาสนาอธิบายชีวิตในมิติต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน ธรรมะทำให้เข้าใจว่ามีชีวิตไปทำไม ให้หลักในการดำเนินชีวิต สอนให้เข้าใจถึงความเกี่ยวเนื่องของกายและจิต และที่สำคัญคือทำให้ชีวิตเป็นอิสระจากกรอบต่างๆ ที่ถูกสมมติขึ้นมา  
ทุนนิยมจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวก็ต่อเมื่อระบบทุนนิยมนั้นเป็นธรรม วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ และคนทั่วไปเริ่มกังขาในระบบทุนนิยมแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่ากลไกตลาดจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของคนที่ดีขึ้นในระยะยาว แต่วิกฤติเศรษฐกิจได้แสดงให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของทุนนิยมที่ขาดธรรม เราเห็นการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์และบริษัทขนาดใหญ่ เห็นฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์ที่ต้องแตกลง เห็นการเอาเปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ต่อธุรกิจขนาดเล็ก แรงงาน และผู้บริโภค และเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่นำไปสู่วิกฤติทางสังคม เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนจะถอยหลังลงไปมาก แม้ว่าระบบทุนนิยมจะสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์มากที่สุดเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ แต่ระบบทุนนิยมแบบเดิมไม่เพียงพอที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน 
วิกฤติเศรษฐกิจได้ทำให้ทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยหันมาพิจารณาว่าจะปรับปรุงวิธีการบริหารธุรกิจ และระบบทุนนิยมอย่างไร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ในระดับประเทศ เราเห็นการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มข้นขึ้น เพื่อลดการเอาเปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ เราเห็นการปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินให้รัดกุมขึ้น และลดแรงจูงใจของผู้บริหารสถาบันการเงินจากการหากำไรระยะสั้น นอกจากนี้ เรายังเห็นการปรับปรุงระบบภาษีให้คนรวยต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  
ในระดับธุรกิจนั้น เราเห็นแนวคิดเรื่องการปฏิบัติดีต่อสังคม การพัฒนาหลักบรรษัทภิบาลเพื่อลดการเอาเปรียบของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการคอร์รัปชัน การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมโดยไม่มีการนำกำไรไปแบ่งปันระหว่างผู้ถือหุ้น หรือการตั้งกรอบบริหารความเสี่ยงให้รัดกุมเพื่อไม่ให้ผู้บริหารกล้าได้กล้าเสียโดยหวังแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นจนเกินควร
อาจจะกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบทุนนิยมนี้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับหลักธรรมะ แม้ว่าจะเกี่ยวกับองค์ธรรมเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ธรรมะจะสามารถช่วยให้ระบบทุนนิยมสมดุลและยั่งยืนได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมตะวันตกมักจะเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์จากภาครัฐ หรือเป็นเพราะถูกแรงกดดันจากภายนอกองค์กรทำให้ธุรกิจต้องปฏิบัติตาม ส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภายในจิตใจของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารธุรกิจอย่างแท้จริง 
ในประเทศไทยนั้น แนวคิดเรื่องธรรมะกับทุนนิยมไปไกลกว่าโลกตะวันตกมาก หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำธรรมะมากำกับทุนนิยมได้อย่างชัดเจนที่สุด หลายท่านได้ยินชื่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้วอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงหลักปรัชญาพอมีพอกินไม่สอดคล้องกับระบบทุนนิยม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแบ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้หลายระดับขั้นตั้งแต่เรื่องการเกษตรพื้นฐาน ไปจนถึงการผลิตเพื่อการค้าและการแข่งขัน  ผมเคยมีโอกาสถามท่านผู้ใหญ่ถึงที่มาของชื่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าทำไมทรงใช้คำว่าพอเพียง ได้รับคำตอบที่ลึกซึ้งมากว่าทรงหมายถึงพอเพียงที่ใจ ถ้าทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค นักธุรกิจ หรือผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงที่ใจแล้ว เราจะได้สังคมและระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จะเห็นได้ว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องของจิต หรือเป็นเรื่องที่ต้องระเบิดจากข้างใน ซึ่งแต่ละคนจะต้องตัดสินใจเองตามสภาวะแวดล้อมของตน ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ หรือมีกฎเกณฑ์จากภายนอกมากำหนดว่าควรทำ หรือไม่ควรทำในเรื่องใด อย่างไร 
ความน่ากลัวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือธรรมะกับทุนนิยม มักจะถูกเชื่อมโยงไปในรูปแบบที่ไม่ถูกต้อง คือแทนที่จะนำธรรมะซึ่งเป็นกฎของชีวิตมากำกับทุนนิยม คนหลายกลุ่มหลายสำนักกลับนำธรรมะเข้าไปอยู่ใต้ทุนนิยม จนเกิดกิจกรรมในลักษณะพุทธพาณิชย์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อว่าจะขึ้นสวรรค์ชั้นใดขึ้นอยู่กับเงินที่ทำบุญ การทำผิดแล้วมาทำบุญแก้กรรม หรือการนำเสนอพระนักเทศน์ในลักษณะดารานักแสดง ความบิดเบือนเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยให้คนเข้าถึงธรรมะหรือเข้าใจกฎของชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจพุทธศาสนาแบบผิดๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนา และความยั่งยืนของสังคมที่เป็นธรรมในระยะยาว 
ธรรมะเป็นกฎของชีวิต เป็นเรื่องของกายกับจิตที่กว้างไกลกว่ากฎของเศรษฐกิจ และกติกาของสังคมที่เป็นเรื่องสมมติมาก  เราจะไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจธรรมะได้ถ้าไม่ลงมือศึกษาและปฏิบัติภาวนาด้วยตนเอง ไม่ว่าธุรกิจจะกำไรหรือขาดทุน เศรษฐกิจจะเฟื่องฟูหรือเจอวิกฤติ ทุนนิยมจะคงอยู่หรือล่มสลาย เราทุกคนยังต้องเกิดแก่เจ็บตาย ท่านใดที่ยังไม่คุ้นเคยกับพุทธศาสนาและสนใจที่อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมะ ผมขอชวนให้ท่านแวะไปร่วม “งานวัดลอยฟ้า” ที่สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ งานนี้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดขึ้นร่วมกับองค์กรพุทธศาสนาหลายสิบองค์กร เพื่อฉลองโอกาสพุทธชยันตี  ในงานนี้จะมีการนำเสนอพุทธศาสนาในมิติต่างๆ เพื่อให้คนกรุงเทพที่อยู่ในกรอบทุนนิยมได้มีโอกาสศึกษาธรรมะและทดลอง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

    Choose :
  • OR
  • To comment