วิธีรวยง่าย ๆ ในสไตล์มนุษย์เงินเดือน

 

วิธีรวยง่าย ๆ ในสไตล์มนุษย์เงินเดือน

มนุษย์เงินเดือน
1. ออมก่อนใช้ 10-30% การออมก่อนใช้จ่าย เป็นวิธีที่ช่วยให้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น เพราะได้กันเงินส่วนหนึ่งแยกออกไป โดยอาจเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ฉบับใหม่ เงินฝากประจำ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อให้เงินที่กันออกไปไม่ถูกดึงนำมาใช้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ เพื่อความไม่ประมาท หากยังไม่มีเงินสำรอง แนะนำให้ออมเพื่อกันเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ไม่น้อยกว่า 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ก่อนออมเพิ่มเติมเพื่อเป้าหมายในอนาคต
2. จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้รู้ถึงยอดเงินที่รับเข้ามาและใช้จ่ายออกไป การจดบันทึกรับ-จ่าย จะทำให้การใช้จ่ายเงินเป็นการใช้จ่ายอย่างมีสติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เงินเดือนเข้ามาใหม่ๆ จะทำให้รู้สึกเหมือนมีพลังในการจับจ่ายใช้สอย จึงมักมีรายจ่ายฟุ่มเฟือยในช่วงดังกล่าว ทำให้ช่วงกลางถึงปลายเดือนต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง เพราะเงินหมดไปตั้งแต่ช่วงต้นเดือนแล้วนั่นเอง
3. ตั้งเป้าหมาย เพื่อเป็นแรงผลักดันให้สามารถออมเงินให้บรรลุเป้าหมายได้ แนะนำให้มีการตั้งเป้าหมายระยะสั้น เช่น เป้าหมายไปเที่ยวต่างประเทศ  เป้าหมายระยะกลาง เช่น ซื้อรถยนต์ เป้าหมายระยะยาว เช่น เกษียณ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรตั้งเป้าหมายให้เป็นไปได้ และควรมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอว่าสามารถบรรลุเป้าหมายในแต่ละช่วงหรือไม่ เพื่อทำการปรับเปลี่ยนวิธีให้ไปถึงเป้าหมาย
4. ลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ ในกรณีที่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเพียงพอแล้ว และมีเงินออมบางส่วน สามารถแบ่งเงินไปลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่น การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ หุ้น ทองคำ หรือเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่างๆ ซึ่งสามารถใช้บริการ Saving Plan เพื่อหักเงินจากบัญชีออมทรัพย์เข้าบัญชีกองทุน
5. หักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ให้มากที่สุด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทนายจ้างที่ให้สิทธิพนักงานเลือกส่งเงินสะสมเอง เช่น สะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ยิ่งหักเงินสะสมมาก ยิ่งทำให้มีเงินเก็บมากขึ้น ลูกจ้างส่งเงินสะสมในอัตราส่วนเท่าไหร่ นายจ้างเองก็ต้องส่งเงินสมทบในอัตราส่วนที่ไม่น้อยกว่าลูกจ้างด้วย ดังนั้น หากลูกจ้างส่งเงินสะสมจำนวน 10% นายจ้างเองก็ต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 10% ด้วยเช่นกัน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทนายจ้าง) นอกจากนี้ เงินสะสมที่ลูกจ้างได้ส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
6. ใช้สิทธิประกันสังคม หากบริษัทไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ประกันสังคมจะเป็นตัวช่วยอันดับต้นๆ ในการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลควรมีบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล และบัตรประชาชนพกติดตัว ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยปกติหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สิทธิคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร รวมถึงกรณีการว่างงาน หากส่งเงินสมทบมาครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน แล้วถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย จะได้รับประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท เนื่องจากกองทุนประกันสังคมมีเพดานจัดเก็บเงินสมทบสูงสุดที่ 15,000 บาทต่อเดือน) โดยระยะเวลาการจ่ายไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน) ภายใน 1 ปี หรือในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลาจะได้รับร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ระยะเวลาจ่ายไม่เกิน 90 วัน (3 เดือน)
7. ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีที่มีให้เต็มที่ เช่น ลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนบุตร ลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อเช่าซื้อที่อยู่อาศัย เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ซึ่งสิทธิลดหย่อนเหล่านี้ หากมีอยู่แล้วแนะนำให้ใช้สิทธิให้เต็มที่ แต่หากยังต้องการลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติม  แนะนำสิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุน เช่น การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ประกันชีวิต และประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น เพื่อให้เงินที่ลงทุน นอกจากจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนในอนาคตด้วย
8. ชำระบัตรเครดิตให้ตรงเวลา เพื่อรักษาเครดิตที่ดีให้อยู่นาน ๆ และหากต้องก่อหนี้ใหม่ เช่น การใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ แนะนำให้ชำระเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 45 วัน หรือ 50 วัน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยจ่ายในอัตราที่สูง
ที่มา dailynews.co.th

    Choose :
  • OR
  • To comment