เตรียมให้พร้อม เตรียมให้พอ สำหรับวัยเกษียณ

 

เกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัว ควรเก็บหอมรอมริบให้พอ เงินเหลือก็ดีสำหรับคนข้างหลัง ถ้าเงินหมดแล้วยังไม่ตายนี่สิน่าคิด

"ที่สุดแห่งความเสียดาย คือ ตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด" "ที่สุดแห่งความสลด คือ ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย" ประโยคหลังน่าจะน่ากลัวกว่า ประโยคแรกเพราะถ้าเราตายแล้ว เงินยังเหลือก็เป็นเรื่องดีคนข้างหลังจะได้ไม่ลำบาก แต่ถ้าใช้เงินจนหมดแล้วยังไม่ยอมตายนี่ล่ะสิที่น่าคิด แล้วชีวิตหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร อดมื้อกินมื้อหรืออย่างไร ยิ่งแนวโน้มข้างหน้าคนเราอายุยืนยาวขึ้น ทำให้ระยะเวลาในการใช้ชีวิตหลังเกษียณจะมากขึ้น เงินที่เตรียมใช้หลังเกษียณก็ต้องมีประมาณพอสมควรที่เดียว ถึงจะอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน

การออมเพื่อวัยเกษียณ

ถึงแม้ปัจจุบันนี้เราจะใส่ใจการออมกันเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ในเรื่องของการวางแผนการเงินสำหรับอนาคตยังมีน้อยมากทำให้เกิดเหตุการณ์ "น่าสลด คือ ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย" อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าตอนนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่ออายุยืนยาวขึ้นปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพยิ่งมีความสำคัญ และปัจจัยเหล่านี้ต้องซื้อหาด้วยเงินทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นเงินที่เราต้องเตรียมสำหรับอนาคตข้างหน้าคงไม่ใช่จำนวนน้อยๆ แค่กินข้าวให้ครบ 3 มื้อๆ ละ 100 บาท วันละ 300 บาท หลังเกษียณอยู่ไปอีก 20 ปี ยังต้องใช้เงินถึง 2,190,000 บาท ดังนั้น การออมต้องเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ ทันทีที่มีรายได้ต้องเริ่มออม รอออมตอนอายุมากเงินเดือนมากๆ ออมไม่ทัน ออมวิธีปกติทั่วไปก็ไม่พอ ต้องรู้จักให้เงินทำงาน แต่เราไม่มีความรู้ด้านการเงินจะทำอย่างไร?

ลงทุนในกองทุนรวมน่าจะเป็นวิธีที่เริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ที่จะเริ่มหัดใช้เงินไปทำงาน ศึกษาข้อมูลเลือก บลจ.ที่น่าเชื่อถือ ผู้จัดการกองทุนที่มีประวัติบริหารงานจัดการที่ดี ศึกษาและเลือกกองที่จะลงที่ไม่มีความเสี่ยงมาก เช่น กองที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ฯลฯ และใช้ประโยชน์จากกองที่ช่วยในการลดหย่อนภาษีซึ่งจะทำให้เราได้เงินภาษีที่จ่ายไปคืนมาบางส่วน เมื่อมีความรู้ความเข้าใจจึงขยับไปลงกองที่ลงทุนในหุ้น ซึ่งผลตอบแทนจะสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันความเสี่ยงก็ตามมาเช่นกัน ต้องดูความทนทานในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนด้วย การให้เงินได้ทำงานจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการเงินได้เร็วขึ้น

การออมปกติอาจจะช่วยให้เรา "รอด"การลงทุนให้เงินได้ทำงานจะเริ่ม "รวย"แต่ถ้ามีการบริหารจัดการเงิน จัดพอร์ต การลงทุนให้ดียึดหลักกระจายความเสี่ยง วางแผนการลงทุนอย่างเป็นระบบมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ เราจะเริ่ม "มั่งคั่ง" คือ หาได้มากกว่าจ่ายและมีเงินเหลือ ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะๆ หลังจากนั้นก็สะสมความมั่งคั่งไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่การลงทุนอย่างเดียวที่จะสร้างความมั่งคั่งให้เราได้ แต่ต้องมีวินัยเรื่องการออมและการใช้จ่ายด้วย ต้องระมัดระวังไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ไม่ใช้เงินไปลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้เรื่อง และสุดท้ายต้องไม่โลภ

หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องเกษียณเป็นเรื่องไกลตัวเพราะว่าอายุยังน้อยยังมีเวลาเก็บออมได้อีกนาน นั่นคือความประมาท อย่าลืมว่าช่วงเวลาที่ชีวิตดำเนินไปเรามีความจำเป็นในการใช้เงินตลอดเส้นทางตั้งแต่เกิดยันตาย จึงจำเป็นต้องวางแผนการเงินให้ดีมีการจัดเตรียมเงินให้เพียงพอในแต่ละช่วงวัยเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงของชีวิต เช่น แต่งงาน ซื้อบ้าน มีลูก ฯลฯ เตรียมให้พร้อม เตรียมให้พอ

ไม่ใช่เรื่องยาก หากเรารู้จักการวางแผนการเงินให้ดี คิดให้รอบคอบกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายชัดเจน มีวินัยเรื่องการออมอย่างสม่ำเสมอ มีการลงทุนอย่างเหมาะสม มีรายได้ต่อเนื่อง รู้จักใช้เครื่องในการออมและการลงทุนอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ทบทวนแผนการเงินเป็นระยะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการเงินต่างๆ สามารถให้คำแนะนำเราได้ เตรียมให้พร้อม เตรียมให้พอ เพื่อชีวิตที่สุขกายสบายใจ

ไปหน้าแรก  การออมและการลงทุน

ที่มา bangkokbiznews.com

    Choose :
  • OR
  • To comment