กฏพื้นฐานง่าย ๆ ที่ควรจำในการเริ่มต้นออมเงินสำหรับทุกคน ตอนที่ 1

 

ครั้งนี้ เราจะนำเสนอกฎมหัศจรรย์ในการช่วยให้ทุกท่านบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยเริ่มจาก

     1) กฎแห่งความพร้อม การลงทุนต้องพร้อมด้วยปัจจัย 4 คือ เงิน ความรู้ ข้อมูล เวลา โดยมีสติเป็นตัวกำกับ หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง การจะประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นจะเป็นเรื่องยาก หรือ หากสำเร็จ ก็มักจะเป็นเพราะโชค หรือ ความบังเอิญ ซึ่งไม่ยั่งยืน ดังนั้น ก่อนการลงทุนใด ขอให้มั่นใจก่อนว่า เงินลงทุนนั้นสามารถลงทุนได้ในระยะยาว โดยเราไม่เดือดร้อนต้องถอนมาใช้ก่อนเวลาอันสมควร มีข้อมูลที่ถูกต้อง ทันเหตุการณ์ และเรามีความรู้ เข้าใจการลงทุนนั้นอย่างดีพอ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสม สุดท้ายคือ เรารู้ว่าเป้าหมายการเงินใดต้องใช้เวลาเท่าไรในการบรรลุและเรามีเวลาการลงทุนที่มากพอสำหรับเป้าหมายนั้นๆ


การออมเงิน การลงทุน
    2) กฎแห่งการออม คนที่ไม่ประสบความสำเร็จทางการเงินส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมที่คล้ายกัน คือ จะออมเงินก็ต่อเมื่อใช้จ่ายก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยออม (รายได้ – รายจ่าย = เงินออม) ซึ่งมักจะเป็นว่า ไม่ค่อยมีเงินเหลือให้ออม เหตุผลเพราะเมื่อมีเงินในกระเป๋ามาก เราก็จะมีแนวโน้มใช้จ่ายมากตามไปด้วย ดังนั้นวิธีเพิ่มเงินออมง่ายๆที่ทำได้ทันทีเลย ก็คือ เปลี่ยนความคิด เป็น มีเงินปุ๊บ ออมก่อนเลย เหลือค่อยใช้จ่าย (รายได้ – เงินออม = รายจ่าย) ตัวอย่างเช่น กฎลบสิบ คือ เมื่อมีรายได้ ให้กันเป็นเงินออมก่อน 10% เหลือค่อยใช้จ่าย หากเรามีเงินเดือนๆละ 20,000 บาท ให้กันเป็นเงินออม 2,000 บาทก่อน เหลือค่อยใช้จ่าย เท่านี้ เราก็มีเงินออมตามเป้าหมายอย่างข้อข้างบนได้แล้ว (แต่หากใครมีความสามารถออมได้มากกว่า 10% เป็น 20%, 30%, หรือ 50% ก็ยิ่งดี เพราะยิ่งออมมาก ก็ยิ่งรวยเร็ว และ รวยมาก)

     3) กฎแห่งเลข 72 คือ หลักง่ายๆ ที่จะทำให้เราทราบว่า จะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใดที่เงินลงทุนของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ณ อัตราผลตอบแทนที่กำหนด ด้วยสูตรง่ายๆ คือ "72/อัตราผลตอบแทนที่กำหนด" ตัวอย่างเช่น หากเรามีเงิน 100 บาท ที่ผลตอบแทน 2% ต่อปี เงินเราจะเป็น 200 บาท ในเวลา 36 ปี (72/2 = 36) แต่ถ้าเราสามารถเพิ่มผลตอบแทนเป็น 4%ต่อปี ก็จะใช้เวลาแค่ 18 ปีที่เงินเราจะเป็น 200 บาท
     ในทำนองเดียวกัน เราก็สามารถหาอัตราผลตอบแทนที่เราต้องการ หากอยากให้เงินของเราเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยสูตร "72/ระยะเวลาที่ต้องการลงทุน" ตัวอย่างเช่น หากเรามีเงิน 100 บาท และเราต้องการให้เงินเราเติบโตเป็น 200 บาท ในเวลา 6 ปี ผลตอบแทนที่เราต้องการคือ 12%ต่อปี (72/6 = 12)
     กฎแห่ง 72 สามารถประยุกต์ใช้กับเรื่องเงินกู้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น เรากู้ยืมเงินด้วยบัตรเครดิตมา 1,000 บาท เสียดอกเบี้ยเงินกู้ 18% ต่อปี (72/18) เพียง 4 ปี หนี้ 1,000 บาทของเราก็จะพอกพูนขึ้นเป็น 2,000 บาท เราคงเห็นแล้วว่าการกู้ยืมเงินโดยเฉพาะด้วยบัตรเครดิตนั้นร้ายแรงเพียงใด

     4) กฎแห่งดอกเบี้ยทบต้น Albert Einstein เคยกล่าวว่า “ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่กว่าการค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ, E=mc2” หากเราออมเงินเดือนละ 2000 บาทที่ดอกเบี้ย 4%ต่อปี ในเวลา 20 ปี เงินออมเราจะโตเป็น 736,000 บาท เป็นเงินต้น 480,000 บาท เป็นดอกเบี้ย 256,000 บาท (ดอกเบี้ยเท่ากับ 53% ของเงินต้น)แต่หากเราเพิ่มเวลาออมเป็น 30 ปี เงินออมเราจะโตเป็น 1,400,000 บาท เป็นเงินต้น 720,000 บาท เป็นดอกเบี้ย 680,000 บาท (ดอกเบี้ยเท่ากับ 94% ของเงินต้น) และที่น่าสังเกตก็คือ เราเพิ่มเวลาออมแค่ 50% (จาก 20 ปี เป็น 30 ปี) เงินออมเราเพิ่มขึ้นเกือบ 100% (จาก 736,000 บาท เป็น 1,400,000 บาท) แสดงว่ายิ่งมีเวลาออมนาน โอกาสรวยก็ยิ่งมีมากขึ้น นี่แหละคือที่มาของประโยคที่ว่า “ออมก่อน รวยกว่า” 

ครั้งหน้า เราจะมาทำความรู้จักกฎการจัดสรรปันส่วนทรัพย์สินกันครับ อย่าลืมติดตามเพื่อเป็นแนวทางให้ทุกท่านมีไอเดียในการบริหารเงินและทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดกันนะครับ

อ่านต่อตอนที่ 2 >> กฏพื้นฐานง่าย ๆ ที่ควรจำในการเริ่มต้นออมเงินสำหรับทุกคน ตอนที่ 2



    Choose :
  • OR
  • To comment