กฏพื้นฐานง่าย ๆ ที่ควรจำสำหรับการออมเงินของทุกคน ตอนที่ 2

 

คราวที่แล้ว เราได้ทำความรู้จักกับกฎพื้นฐาน 4 ข้อที่จะช่วยให้ผู้เริ่มออมเงินบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ได้แก่ กฎแห่งความพร้อม กฎแห่งการออม กฎแห่งเลข 72 และกฎแห่งดอกเบี้ยทบต้น (อ่านย้อนหลังที่นี่>> กฎการออมตอนที่ 1 ) ครั้งนี้เราจะมาแนะนำกฎแห่งการลงทุนเพื่อเพิ่มพูนทรัพย์สินให้เพื่อนๆ ทำความคุ้นเคยอีก 3 ข้อ ดังนี้


1) กฎแห่งทรัพย์สิน ทรัพย์สินของคนเราแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ 
     • ทรัพย์สินสภาพคล่อง ได้แก่ เงินสด เงินออมฉุกเฉิน เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน ฯลฯ ทรัพย์สินพวกนี้สภาพคล่องสูง เบิกถอนง่าย ความเสี่ยงต่ำมาก แต่ผลตอบแทนก็ต่ำมาก เช่นกัน เป็นทรัพย์สินที่จำเป็น เพราะช่วยบริหารความเสี่ยงยามฉุกเฉิน แต่ไม่ควรมีเงินในทรัพย์สินพวกนี้มากเกินไป มีไว้แค่ประมาณ 3 ถึง 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็พอ สมมติมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 6,000 บาท ก็มีเงินเก็บในบัญชีออมทรัพย์ประมาณ 18,000 ถึง 36,000 บาทก็พอ และอย่าลืมกันส่วนหนึ่งเพื่อสำรองสำหรับการชำระหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในระยะใกล้ด้วย
     • ทรัพย์สินลงทุน ได้แก่ หุ้น กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เป็นทรัพย์สินที่ช่วยให้เงินเรางอกเงย เพิ่มโอกาสของผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ก็ระวังความเสี่ยงที่มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้ที่มีความมั่นคงทางการเงิน จะมีทรัพย์สินประเภทนี้มาก เพราะเงินของพวกเขาจะทำงานช่วยสร้างฐานะการเงินให้มั่นคงแข็งแรงขึ้นด้วย ที่เหมาะสมเราควรมีทรัพย์สินเพิ่อการลงทุนมากกว่า 50% ของทรัพย์สินทั้งหมด 
     • ทรัพย์สินส่วนตัว ได้แก่ รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ เสื้อผ้า ฯลฯ มักเป็นทรัพย์สินที่ตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของเรา แต่เป็นทรัพย์สินที่มีข้อเสียคือ ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่ไม่ให้ผลตอบแทน ไม่ค่อยมีสภาพคล่อง ซื้อง่าย แต่ขายยาก และมักขาดทุนเมื่อขาย ดังนั้นทรัพย์สินส่วนตัวนี้ควรมีเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น รองเท้าอาจมีแค่ 2-3 คู่ก็พอ เป็นต้น แต่ทรัพย์สินส่วนตัวนี้กลับเป็นทรัพย์สินที่คนส่วนใหญ่ชอบสะสม เลยทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยร่ำรวย

2) กฎแห่งปิรามิดการลงทุน ในเรื่องการลงทุน ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง หากต้องการให้เงินต้นปลอดภัย ก็ต้องแลกกับผลตอบแทนที่ต่ำ ก็มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ หากต้องการให้เงินเติบโตกว่าเงินเฟ้อ ก็เสี่ยงที่จะขาดทุน การลงทุนที่ผสมผสานช่วยให้เราได้ผลตอบแทนที่มากกว่าเงินเฟ้อ ขณะที่ความเสี่ยงที่จะขาดทุนเงินต้นมีน้อย ปิรามิดการลงทุนเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดสรรเงินลงทุน ที่ให้ความสำคัญแก่การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมากกว่า การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 

     1. ให้การลงทุนมีความมั่นคง ในทุกสถานการณ์ และ
     2. ให้ผลตอบแทนรวมอยู่ในเกณฑ์ดี 

     โดยฐานปิรามิด คือ ส่วนที่ใหญ่สุดของการลงทุน เป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อสร้างความมั่นคงของเงินออม ส่วนยอด ปิรามิด คือ ส่วนที่สร้างผลตอบแทน ลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูง จึงเป็นส่วนที่น้อยที่สุดของการลงทุน 


3) กฎแห่งการกระจายความเสี่ยง การกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่หลากหลาย ไม่ช่วยลดความเสี่ยงเสมอไป หากเป็นการกระจายการลงทุนโดยไม่วิเคราะห์ให้ดีเสียก่อน ยิ่งในภาวะที่ความผันผวนทางการเงินเป็นโลกาภิวัตน์ รุนแรงและรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ อย่างในปัจจุบัน การกระจายการลงทุนจึงต้องสอดคล้องเหมาะสมกับตัวเรา โดยพิจารณาจากศักยภาพการหารายได้ของเรา หากเรามีรายได้ที่สูงและมั่นคง เราก็สามารถมีสัดส่วนลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงได้มากกว่าคนที่มีศักยภาพการหารายได้ต่ำ การกระจายการลงทุนยังต้องสอดคล้องกับสภาวะการลงทุน ไม่มีการลงทุนในทรัพย์สินใดที่เหมาะสมกับทุกสภาวะการลงทุน ทรัพย์สินแต่ละประเภทจะเหมาะสมกับแต่ละสภาวะการลงทุนแตกต่างกัน

ดังนั้นก่อนกระจายการลงทุน เราต้องพิจารณาว่า ทรัพย์สินใดถูกผลกระทบน้อยที่สุด และทรัพย์สินใดได้ประโยชน์จากสภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนไปมากที่สุด และเมื่อมีการผสมทรัพย์สินต่างๆเข้าในการลงทุนของเราแล้ว การเปลี่ยนแปลงของราคาทรัพย์สินต่อภาวการณ์ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้อย่างไร และมีความเสี่ยงโดยรวมมากน้อยแค่ไหน เราสามารถรับความเสี่ยงที่จะเกิดนั้นได้หรือไม่

เมื่อทราบกฎการกระจายการลงทุนและความเสี่ยงแล้ว เพื่อนๆ ก็จะมีหลักการและความพร้อมในการเพิ่มพูนรายได้มากขึ้นครับ

ไปหน้าแรก  การออมและการลงทุน


ขอบคุณข้อมูลจาก คุณสาธิต บวรสันติสุทธิ์

    Choose :
  • OR
  • To comment