การวางแผนการเงินเพื่ออนาคตสำหรับนักเรียนนักศึกษา

 

ช่วงนี้เรามักจะเห็นข่าวความกังวลของภาครัฐและนักวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาการเมืองต่อเศรษฐกิจไทยว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตในอัตราที่ต่ำมากถึงติดลบได้ถ้าสถานการณ์การเมืองยังยืดยื้อต่อไป ผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้ย่อมกระทบทุกคน โดยเฉพาะนักศึกษาผู้ที่กำลังจบ อาจมีปัญหาในการหางานทำ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเศรษฐกิจกระทบคุณภาพชีวิตมากนัก เพื่อนๆ อาจนำข้อแนะนำจากบทความนี้ไปถ่ายทอดยังบุตรหลานที่กำลังจบการศึกษาให้เริ่มที่จะวางแผนการเงินของตนเองอย่างจริงจัง

การออม การลงทุน การวางแผนการเงิน

ถ้ากล่าวถึงนักศึกษาหลายคนอาจคิดว่า ทำไมต้องวางแผนการเงินด้วย ในเมื่อในวัยนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้เลย แล้วจะวางแผนอะไร แต่จริงๆ แล้วพวกนักศึกษาเป็นอีกกลุ่มที่ต้องศึกษาเรื่องการวางแผนการเงิน ไม่ว่าคนที่ส่งเสียตนเองเรียนหนังสือ หรือแม้แต่คนที่พ่อแม่สนับสนุนเรื่องการเรียน เพราะปัจจุบันพ่อแม่โดยส่วนใหญ่ก็จะพยายามสอนลูกให้รู้จักการบริหารเงิน โดยให้เป็นเงินลูกเป็นเงินเดือน เมื่อลูกต้องบริหารการใช้จ่ายเองดังนั้น การวางแ ผนการเงินจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

กลุ่มนักศึกษาจัดเป็นคนในกลุ่ม Gen Y (อายุ 16-30 ปี) เป็นกลุ่มที่มีพลังในตัวเองมาก สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและพร้อมพัฒนาตนเองอยู่เสมอ กล้าแสดงออก สามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน มีความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมั่นในตนเองสูง รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดี 

กลุ่ม Gen Y มีรสนิยมชอบดูแลตนเองสูง ชอบแต่งตัว เหตุผลในการซื้อสินค้าของคน Gen Y ส่วนใหญ่ใช้เหตุผลลูกผสม คือ ใช้เหตุผลผสมกับอารมณ์ที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล พวกเขาจะหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการแต่ละชิ้น 

จากพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Y สะท้อนมาสู่พฤติกรรมทางการเงิน ผลสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของกลุ่ม Gen Y จากรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงศรีฯ เรื่อง “คน เจน เอ็กซ์ (Gen X) และ เจน วาย (Gen Y) กับการเก็บออมเงินและการลงทุน” เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา มีดังนี้ครับ 
     • กลุ่ม Gen Yส่วนใหญ่นิยมออมเงินในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยที่นิยมมากสุด คือ ฝากเงินกับธนาคาร รองลงมา คือ ประกันชีวิต และสลากออมสิน ตามลำดับ
     • กลุ่ม Gen Y ในสัดส่วนปานกลางออมในสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เพชร ทองคำ ฯลฯ) คือ ประมาณ 10% - 13%
     • กลุ่ม Gen Y มีเพียงส่วนน้อยที่ลงทุนในสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (ลงทุนในกองทุนประมาณ 6% และลงทุนในหุ้นประมาณ 0.3%)

ด้านการบริหารรายรับรายจ่าย
     • ควรระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะในทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น สังหาริมทรัพย์ ต่างๆ วิธีการบริหารรายจ่ายที่เหมาะสม คือ เริ่มด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อจะเป็นสัญญาณในการเตือนตนเองว่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเกินไปหรือไม่
     • ควรหลีกหนีจากการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น เนื่องจากรายได้ที่จำกัด ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ดังนั้น หากไม่มีการควบคุมรายจ่ายที่ดี จะทำให้เป็นปัญหาหนี้ได้ง่าย และปัญหาหนี้ที่พบส่วนใหญ่ในกลุ่มนักศึกษา คือ ปัญหาหนี้บัตรเครดิตจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยเอแบค มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเมื่อปี 2556 เรื่อง "พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของคนเมือง" ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่ากลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้บัตรเครดิตสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยคิดเป็นร้อยละ 46.7 ซึ่งหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่คิดดอกเบี้ยสูงมากถึง 20%/ปี
     • ควรหลีกหนีจากอบายมุข โดยเฉพาะการพนัน เช่น พนันบอล ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของนักศึกษาในปัจจุบัน

ด้านการบริหารทรัพย์สิน
     • เนื่องจากยังเป็นผู้ที่ไม่มีภาระ และระยะเวลาการลงทุนนาน ความสามารถในการรับความเสี่ยง จึงควรลงทุนส่วนใหญ่ในหลักทรัพย์ที่ให้โอกาสของผลตอบแทนสูง และป้องกันผลกระทบของเงินเฟ้อได้ดี เช่น หุ้น ฯลฯ (ปัจจุบันลงทุนเพียง 6% - 8%ของเงินออมทั้งหมด)
     • ควรลดการลงทนสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินฝากและพันธบัตร เหลือให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3 -6 เดือน (ปัจจุบันมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 75% - 80% ของเงินออมทั้งหมด) เงินออมส่วนที่เหลือนำมาลงทุนเพื่อให้เงินออมมีโอกาสเติบโตมากขึ้นต่อไป 
     • เนื่องจากเป็นผู้ที่เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ได้เร็ว จึงควรศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุน เพื่อเป็นการสร้างรากฐานการลงทุนที่ถูกต้อง
     • โดยตัวของนักศึกษาเองก็เป็นทรัพย์สินที่สำคัญ จึงควรพัฒนาความรู้ และค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของเรา เพื่อการทำอาชีพที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต และควรหมั่นดูแลสุขภาพเพื่อรักษาทรัพย์สินที่มีค่านี้ให้คงอยู่นานๆ

ด้านการบริหารความเสี่ยง
     • เนื่องจากพฤติกรรมของคนวัยนี้มักจะคนอง กล้าได้กล้าเสีย การทำประกันอุบัติเหตุ หรือ ประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพ น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพราะให้ความคุ้มครองมากกว่า และเบี้ยประกันต่ำกว่า ทำให้มีเงินเหลือสำหรับการลงทุนเพื่ออนาคตได้มากขึ้น

ไปหน้าแรก  การออมและการลงทุน






ขอบคุณข้อมูลจาก คุณสาธิต บวรสันติสุทธิ์

    Choose :
  • OR
  • To comment