หากคุณเป็นลูกหนี้ที่ไม่อยากเสียประวัติทางการเงิน แต่เริ่มมีภาระหนี้จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จนอาจเกิดปัญหาในการจ่ายหนี้ได้ ลองหาวิธีลดภาระหนี้ เพื่อไม่ให้ต้องเสียเครดิต ด้วยการรีไฟแนนซ์ดูสิคะ
การรีไฟแนนซ์ ก็คือการกู้เงินจากที่ใหม่มาโปะหนี้เก่า เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของการใช้หนี้ หรือทำให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงลดต่ำลง ส่วนใหญ่มักจะรีไฟแนนซ์สินเชื่อบุคคล หรือบ้าน ก่อนติดต่อรีไฟแนนซ์ ควรคิดให้รอบคอบถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ว่าคุ้มค่าแค่ไหนเพื่อไม่ให้หนี้สินพอกพูนกว่าเดิม
ทุกวันนี้การแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินสูงขึ้น ทำให้ตลาดรีไฟแนนซ์คึกคักมาก เรียกว่านาทีทองของลูกหนี้ เพราะจะได้รับประโยชน์จากการรีไฟแนนซ์เงินกู้มากพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม การรีไฟแนนซ์ที่ดีจะต้องคำนึงด้วยว่า ส่วนประหยัดจากดอกเบี้ยที่ลดลง คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในการรีไฟแนนซ์หรือไม่
รีไฟแนนซ์บ้าน
การรีไฟแนนซ์บ้านระยะยาวอย่างหนี้บ้านหรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหลายคนคงเคยมีความคิดที่จะรีไฟแนนซ์หนี้บ้าน เพียงแต่ไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไร
ทุกวันนี้ดอกเบี้ยบ้านเริ่มลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ธนาคารหลายแห่งดึงดูดลูกค้าด้วยการเสนอสินเชื่อบ้านที่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยจึงนับว่าเป็นช่วงเวลาของคนที่มีภาระผ่อนบ้านอยู่อาจพิจารณาดูว่า ควรจะรีไฟแนนซ์ไปหาที่ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าแล้วหรือยัง
จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลารีไฟแนนซ์แล้วหรือยัง
-เปรียบเทียบดอกเบี้ยส่วนต่าง อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินแห่งใหม่ต้องต่ำกว่าการกู้เดิมจริง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนสิ้นสุดอายุสัญญา ง่าย ๆ เพียงลองคำนวณจากค่างวดต่อเดือนที่วงเงินกู้และระยะเวลาการผ่อนชำระเท่ากัน ระหว่างสินเชื่อจากสถาบันการเงินเดิมที่ใช้อยู่กับสินเชื่อใหม่ หากที่ใหม่ได้รับดอกเบี้ยถูกกว่าเท่าไร นั่นก็หมายถึงค่างวดที่ต้องผ่อนชำระก็จะลดลงตามไปด้วย
-เปรียบเทียบราคาตลาดหรือราคาประเมินของบ้านกับหนี้ที่เหลือในการรีไฟแนนซ์ ราคาตลาดหรือราคาประเมินของที่คุณอยู่อาศัยที่จะรีไฟแนนซ์ต้องมีมูลค่าสูงกว่าหนี้ที่เหลือ เช่น หากคุณซื้อบ้านเมื่อ 4-5 ปี ที่แล้วในราคา 1 ล้านบาท ผ่อนชำระมาตลอดและยังเคยใช้เงินก้อนโปะไปบ้าง จนทำให้ปัจจุบันหนี้คงเหลือประมาณ 7 แสนบาท ปัจจุบันราคาประเมินของบ้านหลังนี้อยู่ที่ 9.5 แสนบาท แบบนี้ก็เป็นโอกาสที่คุณจะรีไฟแนนซ์ได้ แต่ถ้าราคาประเมินปัจจุบันร่วงลงต่ำกว่า 7 แสนบาท คุณก็ไม่สามารถรีไฟแนนซ์ได้ เพราะมูลค่าหนี้สูงกว่าราคาประเมินของบ้าน
-ระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยังเหลือ หากระยะเวลาการผ่อนชำระยังเหลือเวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป ก็นับว่าคุ้มที่จะรีไฟแนนซ์ เพราะการรีไฟแนนซ์ไปยังสถาบันการเงินที่ดอกเบี้ยถูกกว่า จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้มากกว่าในระยะยาว
-ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมในการรีไฟแนนซ์จากทั้งสถาบันการเงินที่เก่าและที่ใหม่ เช่น ค่าจดจำนอง ค่าธรรมเนียมการขอเงินกู้ ค่าประเมินหลักประกัน และค่าเบี้ยปรับในกรณีไถ่ถอนก่อนกำหนด เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่จะคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับ ในกรณีชำระหนี้หมดก่อนกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนระหว่างประมาณ 3 ปีแรก
ข้อดี : ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า ค่างวดต่อเดือนลดลง และได้วงเงินเพิ่มขึ้น
ข้อเสีย :
-เสียค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ เพราะการยื่นเรื่องกับแหล่งเงินกู้ใหม่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างเช่น ค่าธรรมเนียมในการจำนองคิดเป็น 1% ของวงเงินที่จะจำนองใหม่ ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ ค่าประเมินหลักทรัพย์ราว 0.25% ของราคาประเมิน สรุปก็คือ ต้นทุนใยการเปลี่ยนใจมาใช้แหล่งเงินกู้ใหม่จะอยู่ราว 2.5% ของวงเงินรีไฟแนนซ์
-เสียเวลาในการทำเรื่องใหม่ และหากได้วงเงินต่ำกว่าเดิม ก็ไม่คุ้มค่า เสียเวลาและค่าใช้จ่าย
-เสียค่าใช้จ่ายในการออกจากการเป็นลูกหนี้ของธนาคารเดิม แน่นอนว่าธนาคารต่าง ๆ ย่อมไม่อยากเสียลูกหนี้ที่ดีไป หรือต้องคำนวณให้คุ้มหากลูกหนี้จะขอไถ่ถอนหนี้ก่อนกำหนด จึงมีค่าใช้จ่ายในการปลดจำนองก่อนครบกำหนด โดยทั่วไปต้องจ่ายราว ๆ 0-2% ของยอดเงินกู้ที่เหลือ ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะกำหนดการจ่ายค่าปรับไว้ตามระยะเวลาที่ไถ่ถอนก่อนกำหนด
เปรียบเทียบความคุ้มค่า
1.อัตราดอกเบี้ยแห่งใหม่ควรต่ำกว่าแหล่งเงินกู้เดิมสัก 5% จึงจะคุ้มค่า
2.เช็กเงื่อนไขการกู้ให้คุ้ม เช่น ถ้าคุณมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมได้วงเงินเพิ่มขึ้นใหม่
3.นำค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์มาคำนวณดูว่าถึงจุดคุ้มทุนเมื่อไร เช่น ถ้าได้วงเงินกู้เท่าเดิมเปรียบเทียบตัวเลขดูว่าแต่เดิมผ่อนเดือนละเท่าไร เมื่อกู้ใหม่แล้วผ่อนงวดละเท่าไร ส่วนต่างที่ลดลงคือประโยชน์ที่ได้ แล้วเอาส่วนต่างไปหารค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ ส่วนระยะเวลาที่เหลือในการผ่อนก็ถือเป็นกำไร