ความเปราะบางทางการเงิน

 



ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติขึ้นในประเทศต่าง ๆ สาเหตุสำคัญจะมาจาก “ความเปราะบางทางการเงิน” อะไรคือความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับทางการเงิน ในประเด็นนี้ อาจารย์ดอร์นนุสช์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจของโลก ได้เคยเขียนคำจำกัดความของ “ความเปราะบาง” ไว้อย่างน่าสนใจว่า “เมื่อบางอย่างเริ่มผิดพลาดขึ้น ความย่ำแย่ ปัญหาร้ายต่าง ๆ ก็จะพากันมาเยือน”

     เหมือนคนชราที่มีอายุมาก 90 ปี เป็นไม้ใกล้ฝั่ง ร่างกายทรุดโทรมลงเต็มที่ แค่เพียงอากาศเปลี่ยนก็จะเป็นหวัด จากนั้นก็ต้องไปโรงพยาบาล จากหวัดเพียงเล็กน้อย สามารถลุกลามเป็นปอดบวม เป็นโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ มารุมกันถามหา ท้ายสุดระบบต่าง ๆ ของร่างกายล้มเหลว

     ทั้งหมดเป็นเพราะร่างกายเปราะบาง อ่อนแอลงเต็มทน แค่ซวนเซไปนิด ก็สามารถลุกลามไปไกล เศรษฐกิจก็เช่นกันเมื่อสะสมความเปราะบางไว้ ก็เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติ ในยามเศรษฐกิจดี ทุกอย่างสดใส ครัวเรือนก็จะกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อ ใช้จ่ายบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ธุรกิจกู้ยืมมา ลงทุนในโครงการที่ใหญ่โตและเป็นขนาดที่เกินความต้องการ

     ขณะที่นักลงทุนที่เก็งกำไร เสี่ยงจนเกินไป สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวังรอวันที่จะกลายเป็นหนี้เสีย รัฐบาลที่ใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังจนไม่สามารถชำระคืน อีกทั้งเงินและหนี้ต่างประเทศที่อาจจะหลั่งไหลเข้ามา จนเงินสำรองระหว่างประเทศมีไม่เพียงพอจะรองรับกับการไหลออกของหนี้และเงินเหล่านี้ เงินที่ได้กันมาง่าย ๆ กู้มาง่าย ๆ ตอนแรกดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ดี ดูเหมือนว่าคนเชื่อถือเรา มีเครดิตดีสามารถกู้ยืมได้ ยิ่งกู้ยิ่งสนุกมือ ยิ่งใช้ยิ่งเพลิดเพลิน

      แต่ปัญหาก็คือ เงินที่กู้มาเหล่านี้จะกลายเป็นความเปราะบางที่ทำให้เรามีภาระต้องชำระคืนในอนาคตยิ่งกู้มากขึ้น ภาระที่ต้องคืนก็มากขึ้นยิ่งเป็นหนี้มาก เวลาเจ้าหนี้เปลี่ยนใจ คิดว่าเราไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป หยุดให้กู้ยืม หรือเรียกเงินคืน วิกฤติก็จะถามหาตรงนี้ก็น่าเป็นห่วง ส่วนคนที่เสี่ยงก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเสี่ยงในหุ้น หรือในอสังหาริมทรัพย์ ตอนแรกที่เสี่ยง ก็สนุก เพราะมีแต่ได้ อยู่ในช่วงขาขึ้นพอยิ่งได้ก็ยิ่งเกิดความเสี่ยงเข้าไปอีก

      ท้ายสุดกลายเป็นความเปราะบางสะสม ยิ่งมีคนมาเสี่ยงไว้มากเท่าไร ความเปราะบางก็มากขึ้นเท่านั้น ครั้นเศรษฐกิจเริ่มเกิดปัญหา ความเสียหายก็ยิ่งเท่าทวีคูณแม้กระทั่งสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เป็นแหล่งเงินก็ไม่อาจรอดพ้นไปได้ พอเงินที่ปล่อยออกไปกลายเป็นหนี้เสีย มากเข้า สถาบันการเงินก็ล้มได้ และถ้า ทำกันหลายแบงก์ ก็ล้มลงทั้งระบบได้เช่นกัน

      เมื่อเอาทุกอย่างมารวมกัน ยิ่งมีคนจำนวนมาก ธุรกิจจำนวนมาก สถาบันการเงินจำนวนมาก รวมถึงภาครัฐทำตัวเช่นนี้ ก็รอแต่วันที่ข่าวร้ายมาถามหาซึ่งข่าวร้ายอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวที่ร้ายแรงมาก แต่แรงพอที่จะทำให้ทุกคนเริ่มเปลี่ยนมุมมอง เริ่มเห็นเป็นขาลง เริ่มปกป้องตนเองพอกระบวนการขาลงเริ่ม คนเริ่มออกยิ่งทำ ก็เหมือนกับปฏิกิริยาลูกโซ่ แถมนักเก็งกำไรก็ยิ่งเข้ามาซ้ำเติมโจมตี ความเสียหายของเศรษฐกิจของไทยก็จะเกิดความลุกลามปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมไว้ก็จะแสดงออกมากลายเป็นวิกฤติที่ปะทุขึ้นยิ่งสะสมความเปราะบางไว้มากเท่า ไร วิกฤติก็ยิ่งแรงขึ้นเท่านั้น เหมือนฤดูร้อนที่ต่างประเทศ ถ้าแล้งมาก ใบไม้ก็จะร่วงสะสมไว้มาก ไม่เพียงแต่ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติไฟป่าจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น ขนาดของวิกฤติก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตรงนี้จึงเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสำหรับประเทศต่าง ๆ ว่า อย่าตายใจ อย่าปล่อยให้ความเปราะบางสะสมตัว เร่งดูแล เก็บกวาดแต่เนิ่น ๆ วิกฤติเศรษฐกิจก็จะไม่ถามหา

ที่มา :  คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับ ดร.กอบ  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

    Choose :
  • OR
  • To comment