![]() |
การวางแผนการเงิน |
เรื่องไม่คาดคิดในชีวิตคนเราเกิดขึ้นได้เสมอ รวมถึงเรื่องการเงินด้วย คนที่มีประสบการณ์ชีวิตอย่างเช่นคุณผู้อ่านที่อายุอานามผ่านเลขสามมาแล้ว ถึงปกติจะมีวิธีจัดการการเงินที่ดีพอสมควร แต่นั่นแหละ บางครั้งบางคราว เคราะห์ยามยามซวย อุ๊ย ประทานโทษ..ยามร้าย การเงินที่เคยเป็นระบบระเบียบก็อาจมีเหตุเกิดวิกฤติยุ่งเหยิงโดยไม่คาดฝันได้เหมือนกัน เช่นจู่ๆ เดือนนี้น้องสาวแต่งงาน หลานชายบวช เพื่อนแจกการ์ดงานศพ มาพร้อมๆ กันโดยมิได้นัดหมาย คนในครอบครัวหรือตัวเองเกิดเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ประมาณว่าต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่กะทันหัน การเงินกระแสรายเดือนเกิดอาการช็อตตตต... หน้ามืด มีทางออกในกรณีนี้มาบอกกัน ประการแรกให้ยืดอกสูดลมหายใจให้เต็มปอด พูดอีกอย่างว่าตั้งสติให้ดี อย่าสติแตกจนหาทางออกไม่เจอ คิดสั้น หรือวู่วามตัดสินใจผิดพลาด วิ่งเข้าหานายทุนเงินกู้ดอกแพง อันดับต่อมา สำรวจดูว่าเราพอจะมีเงินสำรองอยู่ที่ไหนบ้าง หรือมีทรัพย์สินอะไรที่พอจะแปรเป็นเงินได้บ้าง เช่น หุ้น เงินกองทุนสะสม ที่ดิน ทองที่ซื้อห้อยคอเก๋ๆ ยามยากเปลี่ยนมาเป็นเงินดีกว่า ไม่ตายแล้วคงหาใหม่ได้ ขายทรัพย์สินบางส่วนยังดีกว่าต้องกู้ยืมที่ทำให้เราเป็นหนี้ ข้อผิดพลาดใหญ่หลวงที่คนเรามักถลำยามเข้าตาจนคือวิ่งหาเงินกู้ดอกเบี้ยมหาโหด และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ฮิตอยู่ขณะนี้คือทำบัตรเครดิตเพื่อเบิกเงินสดล่วงหน้ามาใช้จ่ายหรือใช้หนี้อื่นๆ เรียกว่าแก้ผ้าเอาหน้ารอด แต่เป็นการปลดหนี้หนึ่งไปสู่อีกหนี้หนึ่ง(ซึ่งอาจทำให้เป็นหนี้มากกว่าเก่า) โดยหลักการแล้วการใช้บัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพียงแต่ต้องใช้ให้เป็น และต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเป็นการหยิบยืมเงินมาใช้ล่วงหน้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครเขาให้คุณมาฟรีๆ ถ้าไม่ใช้คืนทั้งหมดภายในรอบการชำระคุณจะต้องเสียดอกเบี้ย หลายคนประสบปัญหาว่าชำระเพียงยอดชำระขั้นต่ำไปทุกเดือนๆ ยอดหนี้คงเหลือไม่ค่อยจะลดลงสักเท่าไหร่ หากจำเป็นต้องกู้ยืมจริงๆ มองหาแหล่งเงินที่ไม่มีดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ เช่น ญาติมิตร สหกรณ์ และต้องนำเงินนั้นมาเพื่อใช้จ่ายเหตุวิกฤติเท่านั้น มีหลายคนที่นำเงินกู้มาใช้จ่ายอย่างอื่นด้วย ทำให้ภาระหนี้บานปลาย ไม่ว่าคุณจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหยิบยืมญาติมิตรหรือด้วยการกู้ก็ตาม หลังจากนั้นอย่านิ่งนอนใจหายห่วง ต่อไปควรมองหาวิธีที่จะบริหารการเงินอย่างมีหลักการ โดย - หารายได้เพิ่ม มองหางานพิเศษทำนอกเหนืองานประจำที่ทำอยู่แล้ว - ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่าง เช่นเงินที่ใช้จ่ายกับเรื่องเอนเทอร์เทน ดูหนัง ฟังเพลง กินข้าวนอกบ้าน เที่ยว ซื้อเครื่องแต่งตัว - วางแผนใช้จ่ายว่าขณะนี้แต่ละเดือนมีเงินใช้จ่ายได้เท่าไร และแต่ละวันจะใช้จ่ายได้ไม่เกินเท่าไร - พูดคุยทำความเข้าใจกับทุกคนในครอบครัวให้รู้สถานการณ์ ช่วยกันประหยัด - มีวินัยในการใช้หนี้ คำนวณระยะเวลาในการแก้วิกฤตให้คนในครอบครัวเห็นเป้าหมายร่วมกันว่าเราต้องอยู่ในภาวะตึงเครียดนี้อีกสักเท่าไหร่ ความร่วมมือร่วมใจของทุกคนจะช่วยแก้อาการหน้ามืดจากเงินช็อตได้ไม่ยาก | |
ที่มา : นิตยสาร Life & Family |