เทคนิคดี ๆ ในการลดหนี้บัตรเครดิต

 

เรียกได้ว่า บัตรเครดิต” ได้กลายมาเป็นรูปแบบในการจับจ่ายที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนเมืองอย่างต่อเนื่องนะครับ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะความสะดวกสบาย ไม่ต้องพกเงินจำนวนมากติดตัว หรือเงินสดหมดก็ไม่ต้องเดินหาตู้ ATM ให้เมื่อยตุ้ม อีกทั้งสถาบันการเงินรายใหญ่ต่างก็แข่งกันออกโปรโมชั่นบัตรเครดิตมาดึงดูดลูกค้า ทั้งลด แลก แจก แถม สะสมแต้ม รวมถึงการใช้แต้มที่สะสมไว้มาใช้แทนเงินสด ซึ่งสิ่งจูงใจเหล่านี้เป็นเหมือนดาบสองคมที่สามารถสร้างบาดแผลให้กับสุขภาพการเงินของเราได้ หากเราไม่ระมัดระวังในการใช้ครับ และวันนี้ผมก็มีเทคนิคดี ๆ เกี่ยวกับการบริหารหนี้บัตรเครดิตมาฝากครับ

การลดหนี้บัตรเครดิต
ในช่วงแรกของการใช้บัตรเครดิตใหม่ๆ ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกครับ แต่พอเริ่มใช้ไปสักพักก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีกำลังซื้อจากเงินในอนาคตมากขึ้น ทำให้เริ่มใช้จ่ายมากขึ้น จนทำให้จากเดิมที่เคยชำระแบบเต็มจำนวน ก็เริ่มกลายเป็นการผ่อนชำระบางรายการ เมื่อยอดบัตรเครดิตรวมรายการผ่อนชำระทุกรายการรวมกันเริ่มสูงขึ้นจนทำให้จ่ายไม่ไหว ก็จะเริ่มกลายเป็นการค้างชำระ ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ ขึ้นมา เช่น ดอกเบี้ยจากยอดค้างชำระ ค่าปรับจากการผิดเงื่อนไขการชำระ และค่าติดตามทวงถามหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากเราค้างชำระหนี้บัตรเครดิตและไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะส่งผลต่อการกู้เงินจากสถาบันการเงิน (กู้ในระบบ) ได้ครับ เพราะในปัจจุบันนี้ สถาบันการเงินต่างๆ จะตรวจประวัติการเงินของเราผ่านระบบข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (Credit Bureau) ซึ่งจะเก็บข้อมูลการชำระหนี้ของเราครับ หากเรามีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ก็อาจจะทำให้เราขอกู้ไม่ผ่านครับ

หนี้บัตรเครดิต ควรเป็นหนี้อันดับแรกที่เราควรชำระ เนื่องจากดอกเบี้ยสูงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะสถาบันการเงินจะเริ่มคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่มีการจ่ายเงินแทนลูกค้าไป ไม่ได้นับจากวันที่เริ่มค้างชำระตามยอดและวันเรียกเก็บที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดครับ เช่น หากเรารูดบัตรวันที่ 1 พ.ค. และได้รับใบแจ้งยอดวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 25 พ.ค. หากเราไม่ชำระตามที่กำหนด ทางบริษัทบัตรเครดิตของเราก็จะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ที่เรารูดบัตรครับ ไม่ใช่วันที่ 15 ที่มีการแจ้งยอด

สำหรับเทคนิคการบริหารจัดการหนี้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธีนั้น ขอแนะนำดังนี้ครับ

  1. สร้างเสริมวินัยการใช้เงินให้ตนเอง ถ้าจะซื้อของแต่ไม่มีเงินจ่าย พยายามอย่ารูดบัตร ใช้จ่ายให้น้อยกว่าหรือเท่ากับเงินสดที่มีเท่านั้น จำไว้ว่า ไม่ควรมียอดผ่อนชำระบัตรเครดิตมากกว่า 10ของเงินเดือน
  2. ชำระเต็มจำนวน ตรงเวลา ทำให้ไม่โดนค่าปรับและดอกเบี้ยค้างชำระ
  3. เลือกถือบัตรที่เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา เช่น มีส่วนลดร้านอาหาร ได้รับเงินคืนจากการเติมน้ำมัน หรือส่วนลดในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้ต้องไม่เป็นเหยื่อโปรโมชั่นของบัตรเครดิตนะครับ
  4. อ่านใบแจ้งยอดอย่างละเอียด เพื่อทบทวนรายจ่ายในแต่ละเดือน และเพื่อใช้ในการปรับการใช้เงิน ตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือย
  5. ใช้แต้มสะสมให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้แต้มแทนเงินสด หรือเป็นส่วนลดเพิ่มเติม
นอกจากจะทำทั้ง 5 ข้อที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีเคล็ดไม่ลับอีก 3 ข้อที่อยากย้ำให้นำไปปฏิบัติกันครับ ได้แก่
  1. ไม่ก่อหนี้เพิ่ม ต้องจำให้ขึ้นใจว่า ถึงแม้ว่ามันจะถูกแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้ใช้ ก็ไม่ซื้อ
  2. หากมีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ ควรปิดใบที่มียอดน้อยที่สุดก่อนแล้วค่อยๆ ทยอยปิดใบอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้ตัวเอง
  3. หากต้องการขายสินทรัพย์เพื่อหาเงินมาโปะหนี้บัตรเครดิต ควรเลือกขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานและไม่ก่อให้เกิดรายได้
ทั้งนี้ เทคนิคต่างๆ ที่แนะนำกันในวันนี้ จริงๆ แล้วล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ ขอเพียงแค่มีความอดทน มีวินัยในตนเอง และมีความตั้งใจพยายามครับ ท้ายนี้ ผมขอฝากไว้อีกนิดนะครับว่า การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้เราได้ทบทวนการใช้เงินของตัวเองได้เป็นอย่างดีครับ และยังช่วยเราวางแผนการเงินได้อีกด้วยครับ นอกจากนี้ หากใครที่คิดว่าไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ในการใช้บัตรเครดิต ขอแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ บัตรเดบิต แทนครับ ซึ่งจะช่วยให้เราควบคุมการจับจ่ายได้ดีกว่าบัตรเครดิตครับ เพราะบัตรเดบิตจะเป็นการหักเงินจากบัญชี ไม่ได้เป็นการใช้เงินในอนาคตแบบบัตรเครดิตครับ

    Choose :
  • OR
  • To comment