ไอ พี โอ หรือ IPO ย่อมาจากคำว่า Initial Public Offering ซึ่งก็คือการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก การจะมีหุ้นไอพีโอออกเสนอขายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่า บริษัทมองหาแหล่งเงินทุน (ที่นอกเหนือจากเงินกู้) เพื่อขยายกิจการหรือไม่ ถ้าบริษัทต้องการเงินทุนและกระจายการถือครองหุ้นให้ประชาชนทั่วไป ก็สามารถนำหุ้นของตนออกเสนอขายได้ โดยจะต้องทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriters) ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนดไว้ หลังจากตัดสินใจ ได้แล้วว่าจะออกหลักทรัพย์เสนอขายแก่ประชาชน บริษัทผู้เสนอขายหลักทรัพย์ (Issuer) ก็จะปรึกษากับ “ที่ปรึกษาทางการเงิน” จัดทำหนังสือชี้ชวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ให้มีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อให้นักลงทุนอ่านทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจจองซื้อหุ้นได้
![]() |
หุ้นไอพีโอ |
ใครสามารถจองหุ้นไอพีโอได้บ้าง
โดย ปกติหุ้นไอพีโอที่เปิดขายให้ผู้จองซื้อรายย่อยนั้น หมายความว่าประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อหุ้นไอพีโอตัวนั้นได้ อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดว่าไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการและผู้บริหาร ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์นั้นๆ จองซื้อหุ้นบริษัทตัวเองได้
เลือกจองหุ้นตัวไหนดี
การเลือกว่าจะจอง หุ้นตัวไหนต้องดูให้ดี ถ้าไม่ค่อยแน่ใจ ก็สามารถโทรปรึกษาโบรกเกอร์ได้ แต่ถ้าหากคุณพอมี ความรู้อยู่บ้าง ก็สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง โดยดูข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้น ซึ่งจะบอกรายละเอียดว่าบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้นประกอบกิจการอะไร มีฐานะการเงินและผลประกอบการในอดีตเป็นอย่างไรบ้าง ใครเป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหาร บริษัทต้องการขายหุ้นประเภทใด ราคาเท่าไร จะเอาเงินไปทำอะไร มีผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นอย่างไร
คุณสามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th) ถึงแม้ว่าหนังสือชี้ชวนจะหนาเตอะจนทำให้คุณขี้เกียจอ่าน แต่คุณก็ควรจะอ่านให้ทะลุปรุโปร่งและวิเคราะห์ให้ดีถึงผลตอบแทนและความ เสี่ยง
จองแล้วหุ้นไปอยู่ที่ไหน
ถ้า หากคุณได้รับการจัดสรรหุ้น ไม่ใช่ว่าคุณจะได้รับหุ้นทันทีหรอกนะ จะต้องมีกระบวนการจดทะเบียนเพิ่มทุนและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จอง ซื้อต่อกระทรวงพาณิชย์เสียก่อน หลังจากนั้น ถ้าหากคุณระบุในขั้นตอนจองซื้อว่าคุณจะขอรับใบหุ้น ทางนายทะเบียนหุ้นก็จัดส่งใบหุ้นให้คุณทางไปรษณีย์ตอบรับตามชื่อที่อยู่ที่ ระบุในใบจองซื้อหุ้นภายใน 45 วัน นับจากวันปิดจองซื้อหุ้น ซึ่งคุณอาจได้รับใบหุ้นไม่ทันวันเปิดทำการซื้อขาย แต่ถ้าหากคุณระบุว่าจะรับเป็นหุ้นโดยฝากไว้ในบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งก็คือโบรกเกอร์ที่คุณเปิดบัญชีอยู่ ทางนายทะเบียนก็จะนำเข้ายอดหุ้นในบัญชีซื้อขายของคุณทันที ดังนั้น ถ้าหากคุณอยากซื้อขายหุ้นที่จองได้อย่างรวดเร็ว คุณจำเป็นจะต้องมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเลือกเปิดบัญชีแบบไร้ใบหุ้น (Scripless) กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
จะขายหุ้นหลังจองได้อย่างไร
เมื่อ คุณได้รับหุ้นแล้ว ไม่ว่าจะในรูปแบบใบหุ้น หรือนำหุ้นเข้าพอร์ตซื้อขาย คุณก็ยังไม่สามารถขายหุ้นได้ทันทีจนกว่าจะถึงวันที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศวัน เริ่มทำการซื้อขายหุ้นตัวนั้นแล้ว สำหรับกรณีที่คุณมีบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร์ คุณสามารถติดต่อโบรกเกอร์ให้ขายหุ้นให้คุณ หรือคุณจะสั่งขายทางอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเองก็ได้ถ้าหากคุณมีบัญชีซื้อขายทาง อินเทอร์เน็ต ในกรณีที่คุณถือใบหุ้น ให้คุณนำใบหุ้นนั้นไปฝากกับโบรกเกอร์โดยการขอเปิดบัญชีเสียก่อน จึงจะทำการซื้อขายได้ จะเห็นได้ว่าถ้าคุณเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นก่อนทำการจองซื้อ ถ้าคุณได้รับการจัดสรร หุ้นจะถูกโอนเข้าบัญชีคุณอัตโนมัติ เมื่อคุณต้องการขายก็สามารถขายได้ทันใจ ไม่ต้องเสียเวลามาเปิดบัญชีภายหลัง
สำหรับวันไหนที่หุ้นจะเข้าตลาดนั้น คุณก็สามารถตรวจดูได้จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ตลท. หรือ สอบถามทางผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ก็ได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ SET Call Center
โทรศัพท์ 0-2229-2222 หรือ E-mail: SETCallCenter@set.or.th