ฟรีแลนซ์ อาชีพสร้างเงินคนรุ่นใหม่

 

ฟรีแลนซ์ อาชีพสร้างเงินคนรุ่นใหม่

ย้อนไปสัก 7-8 ปีก่อนหน้านี้ คนในบ้านเราคงยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า “อาชีพฟรีแลนซ์” สักเท่าไร เพราะขณะนั้นคนทำงานส่วนใหญ่มักมีสังกัด ไม่ว่าจะเป็นห้างร้าน บริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ แต่ ณ ตอนนี้ อาชีพฟรีแลนซ์กลับได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งจากบัณฑิตที่เพิ่งจบใหม่ คนที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญจากงานด้านใดด้านหนึ่งมาพอสมควร ก็ผันตัวเองออกมาเป็นฟรีแลนซ์ แม้จะเป็นอาชีพที่มีอิสระในการทำงาน แต่ก็เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเรื่องรายได้อยู่ไม่น้อย

            ธรรมชาติการทำงานของฟรีแลนซ์ คือ ทำงานเมื่อมีงานเข้ามา ไม่มีการจ้างประจำ อยากหยุดพักผ่อนหรือพักร้อนนานแค่ไหนก็ได้ ซึ่งธรรมชาติที่ว่านี้เองเป็นต้นเหตุของความเสี่ยง เพราะงานที่ไม่แน่นอนย่อมหมายถึงรายได้ที่ไม่แน่นอนด้วย แต่การทำงานฟรีแลนซ์หนึ่งชิ้นอาจจะใช้เวลาทำงานน้อยกว่างานประจำ แต่ให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า คนที่คิดจะยึดอาชีพฟรีแลนซ์จึงจำเป็นต้องจัดตารางเวลาการทำงานของตนเอง และบริหารเงินทองให้ดี

            การทำงานแบบอิสระ แถมรายได้มากกว่าเมื่อเทียบกับเงินเดือนประจำคงพอดึงดูดใจให้ใครหลายคนอยากทดลงทำอาชีพนี้ดูบ้าง แต่คุณควรเริ่มสำรวจตัวเองก่อนว่ามีคุณสมบัติของฟรีแลนซ์ที่ดีต่อไปนี้หรือไม่
            มีประสบการณ์มากพอ การเป็นฟรีแลนซ์เป็นงานที่ต้องการความชำนาญและความสามารถเฉพาะด้านที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ในหลาย ๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นจากการทำงาน การเรียนรู้เพิ่มเติม การที่ผู้จ้างฟรีแลนซ์ทำงาน สิ่งสำคัญคือการเชื่อมั่นและยอมรับในฝีมือผลงานที่คุณนำเสนอ ถ้าหากคุณเป็นพนักงานบริษัทที่ลาออกไปเป็นฟรีแลนซ์ บริษัทเดิมอาจให้โอกาสว่าจ้างคุณเป็นฟรีแลนซ์และมอบหมายงายให้ทำอย่างต่อเนื่อง

            มีคอนเนคชั่นและเพื่อนฝูงมาก เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ฟรีแลนซ์จะได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะการที่เราเป็นที่รู้จักของกลุ่มเพื่อนฝูง  ก็จะมีกันบอกปากต่อปากเพื่อการจ้างงาน แต่หากคุณต้องการสร้างโอกาสงานฟรีแลนซ์ใหม่ ๆ ให้มากขึ้น การสร้างพอร์ตฟอลิโอผลงานของตัวเองเก็บไว้ก็จะทำให้คุณมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น นอกจากนั้นการสร้างแบรนด์จากผลงานของตัวเอง และการบริหารความสัมพันธ์กับคนกลุ่มใหม่ ๆ ที่ไม่ว่าจะไปอยู่ตรงไหนก็มีน้ำใจ ปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่าย เป็นกันเอง ไม่เรื่องมาก อัธยาศัยไมตรีน่าคบหา สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้ชื่อคุณเป็นที่รู้จักได้ง่ายขึ้น เป็นการพีอาร์ตัวเองที่ให้ผลในเชิงลึกมากกว่าการโฆษณาเสียอีก มีระเบียบวินัยในตัวเอง เพราะไม่มีคนคอยกำกับควบคุม จะตื่นกี่โมง มานั่งทำงานกี่ชั่วโมงก็ไม่มีใครว่า หรือแม้แต่จะโดดงานไปดูหนังตอนบ่าย ๆ ก็ไม่มีใครสน ขอเพียงแค่ส่งงานให้นายจ้างตรงตามเวลาที่กำหนด ทำงานภายใต้เวลาที่กดดันได้ดี เพราะงานที่จะตกถึงมือฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มักเป็นงานด่วน มีระยะเวลาในการทำน้อย แต่ต้องการคุณภาพเป็นเลิศ

            ตรงต่อเวลา เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะความคาดหวังของนายจ้าง ย่อมต้องการงานที่ทันเวลา เพราะฉะนั้น ตารางงานของคนเป็นฟรีแลนซ์อาจจะไม่ยืดหยุ่นได้อย่างที่คิด การส่งงานตรงเวลายังเป็นเสน่ห์มัดใจนายจ้างได้อย่างดี หลังจากสำรวจแล้วพบว่า ตัวเองมีคุณสมบัติของฟรีแลนซ์อยู่ในตัว ก็ควรเริ่มทำงานฟรีแลนซ์อย่างจริงจัง แต่อย่าเพิ่งลาออกจากงานประจำนะคะ ควรที่จะทดลองทำควบคู่กันไปก่อน เพื่อใช้เวลาสักพักในการตั้งหลัก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปี เพื่อสร้างชื่อเสียงและความมั่นใจให้กับลูกค้า

            เพราะฉะนั้น จึงควรทำฟรีแลนซ์ควบคู่กันไปกับงานประจำก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่ามีเงินรายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของตัวเอง เรื่องการเริ่มต้นฟรีแลนซ์ก็รู้กันแล้ว คราวนี้มาถึงวิธีบริหารจัดการเงินก้อนโตที่เข้ามา (แบบ) ไม่สม่ำเสมอกันดูบ้าง ว่าจะทำอย่างไรให้รับมือกับภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตของเราได้ จดทุกอย่าง เดือนนี้มีรายรับจากที่ไหน เท่าไร แล้วต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง ผู้เขียนเองเคยจดแม้กระทั่งวันหนึ่ง ๆ ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง แยกย่อยละเอียดยิบ ค่าข้าว ค่าน้ำ ค่ารถเมล์ และยังแบ่งเป็นมื้อ ๆ อีกด้วย สิ้นเดือนมาจะเห็นสถานภาพทางการเงินของตัวเอง

            ออมเยอะเข้าไว้ เพราะหลังจากนี้เราไม่สามารถรู้ได้ว่า เงินก้อนโตจะเข้ามาอีกเมื่อไร และต่อแต่นี้ไปรายได้จะเข้ามามากน้อยแค่ไหน ปกติเราอาจจะแบ่งสัดส่วนออมเงินเพียง 10-20% ของเงินเดือน แต่คราวนี้ขอให้ออมเกิน 50% ของเงินก้อนที่ได้รับ ก็จะทำให้คุณมีเงินเก็บและมีชีวิตที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น

            ทำประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือแม้แต่ประกันสังคม เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันเงินจากประกันส่วนนี้จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร  อย่าสร้างหนี้ เป็นกฎบริหารจัดการเงินข้อสำคัญของคนทำงานฟรีแลนซ์ที่ไม่ควรจะก่อหนี้ หรือถ้าจะเป็นก็ต้องน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากอะไรก็แล้วแต่ ด้วยรายได้ที่ไม่แน่นอน หากสร้างหนี้มาก ก็มีภาระต้องจ่ายมาก หากช่วงไนงานมีบ้างไม่มีบ้าง เงินไม่พอค่าใช้จ่าย สุดท้ายหนี้ที่เป็นอยู่ก็จะกลายเป็นหนี้เสียและติดแบล็กลิสต์ทางการเงินได้ในที่สุด เมื่อฟรีแลนซ์มีการวางแผนการเงินชัดเจนอยู่ตรงหน้า จะช่วยให้คุณบริหารรายรับรายจ่ายได้อย่างลงตัว รอดพ้นจากสภาพเงินช็อต และมีเงินเก็บได้แน่นอน

            Money Tips : การทำอาชีพของฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มักเลือกจากความถนัดของตัวเอง อาชีพที่มีฟรีแลนซ์มากที่สุดมักเป็นสายบัญชี เชฟ โปรแกรมเมอร์ ออแกไนเซอร์ พนักงานกรอกข้อมูล วิศวกร คนทำอะนิเมชั่นในหนัง นักวางแผนการเงิน นักจัดดอกไม้ ช่างซ่อมเฟอร์นิเจอร์ กราฟิกดีไซเนอร์ ช่างภาพ นักสืบ ที่ปรึกษาด้านการขาย/การตลาด พนักงานขายทางโทรศัพท์ นักแปล ครูสอนพิเศษ ออกแบบเว็บไซต์ นักเขียน เป็นต้น
           

    Choose :
  • OR
  • To comment