จดก่อน รวยก่อน

 

ช่วงหนึ่งมีโฆษณาทางโทรทัศน์ที่รณรงค์ให้เกษตรกรทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน และจะได้มีเงินออม หลังจากดูแล้วก็ทนที่จะไม่หยิบสมุดจดรายรับ-รายจ่ายตัวเองมาดูบ้างไม่ได้ ตอนเด็ก ๆ ผู้เขียนเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมครูต้องให้นักเรียนจดรายการใช้จ่ายในแต่ละวันเอาไปส่งเพื่อเก็บคะแนน วัยนั้นบอกตามตรงว่า เขียนจริงบ้างไม่จริงบ้าง ขอแค่มีตารางรายรับ-รายจ่ายส่งครูเท่านั้นพอ แต่พอเรียนชั้นมัธยม พ่อแม่เริ่มจ่ายเงินเป็นสัปดาห์ โดยให้ผู้เขียนบริหารจัดการเงินในแต่ละสัปดาห์เอง ซึ่งวันหนึ่ง ๆ ก็แทบไม่ได้ใช้จ่ายอะไร นอกจากค่าข้าวกลางวันและค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างวัน
            แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วไม่เคยเหลือเก็บเลย แถมบางสัปดาห์ไม่พอใช้ต้องขอเพิ่มอีกต่างหาก แต่ต้องยื่นรายการใช้จ่ายเพื่อขอรับเงินเพิ่ม อืม ตอนนี้แหละถึงพอจะรู้ค่าของตารางรายรับ-รายจ่ายขึ้นมาบ้าง
            จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัย พ่อแม่ก็เริ่มให้เงินใช้เป็นรายเดือน แต่การมาใช้ชีวิตอยู่หอพักไม่เหมือนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ค่ากินอยู่ ค่าเดินทางต้องบริหารจัดการเองทั้งหมด

            นอกจากเรื่องเรียนแล้ว ทุกคืนก่อนนอน หน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำเป็นประจำ คือการมานั่งทบทวนค่าใช้จ่ายแต่ละวันว่าใช้อะไรไปบ้างเมื่อเขียนออกมาและนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว เราจะเห็นเลยว่าเราซื้ออะไรบ้าง สิ่งไหนจำเป็น เช่น ค่าถ่ายเอกสารทำรายงาน ปกรายงาน ฯลฯ หรือสิ่งไหนไม่จำเป็นบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เราจึงค่อย ๆ ลดทอนเงินที่ต้องเสียไปกับสิ่งเหล่านั้นลง และเมื่อเริ่มทำงาน จำเป็นต้องมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในขณะที่รายได้ในแต่ละเดือนยังคงที่เท่าเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องจดอย่างละเอียด จดแม้กระทั่งค่ากดน้ำดื่มจากตู้ลิตรละบาท เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจริง ๆ แล้วในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายเพียงพอหรือติดลบมากน้อยแค่ไหน

เตรียมอุปกรณ์

            เพื่อให้ตัวเองมีแรงจูงใจในการจด ก็ต้องมีตัวช่วยสักเล็กน้อย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะซื้อเป็นขนาดเล็กกะทัดรัดสะดวกแก่การพกพาและควักขึ้นมาจดขณะนั่งเดินทางหรือนั่งรอทำธุระก็ได้ สมุดบันทึกเล่มเล็ก เลือกสมุดเล่มเล็ก ๆ พกพาสะดวก กะว่าแต่ละหน้าใช้จดบันทึกรายจ่ายกันแบบวันต่อวันก็พอ และเมื่อกลับถึงบ้านถ้าไม่มีใครเข้าออกให้วุ่นวาย เขียนติดบอร์ดหรือหากระดาษเขียนติดหน้าตู้เย็นไว้เลยก็ได้
            ปากกาหลากสี เลือกมาสัก 3 สีตามใจชอบ เอาไว้จดรายการต่าง ๆ ทำสัญลักษณ์ไว้ข้างหน้ารายจ่ายแต่ละรายการ เช่น รายจ่ายหลักใช้สีน้ำเงิน รายจ่ายเบ็ดเตล็ดที่ต้องจ่ายใช้สีเขียว รายจ่ายไร้สาระใช้สีแดง เพื่อให้รู้ว่าจะสามารถตัดอะไรไปได้บ้าง ปิดงบประมาณทุก  ๆ ปลายเดือน พอสิ้นเดือนก็ควรรวมยอดรายจ่ายทั้งหมด และเอาตัวเลขในแต่ละสีมาบวกกันเพื่อดูยอดรวม สีที่ควรสนใจเป็นพิเศษคือสีแพง ถ้าผลบวกตัวเลขสูงเกินไป ควรพิจารณาว่าพอจะตัดทอนลงได้บ้างหรือไม่



    Choose :
  • OR
  • To comment