รู้จักตราสารหนี้ สิ่งดีๆ ช่วยเพิ่มผลตอบแทน

 


ปัญหาที่ผู้ฝากเงินหลายท่านประสบอยู่คือ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าธนาคารต่างๆ ได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็ยังน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ค่าของเงินที่ฝากอยู่ในธนาคารปรับลดลงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป เงินฝากของผู้ฝากแต่ละคนจะได้รับความคุ้มครองจากภาครัฐไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 สถาบันการเงิน ทำให้การฝากเงินทั้งหมดไว้กับธนาคารไม่ปลอดภัยเหมือนกับอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้คุ้มครองเงินฝากทั้งหมด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ข้างต้น การแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงไม่สูงมากนัก คงเป็นสิ่งที่หลายๆ ท่านต้องการ บทความนี้จึงขอนำเสนอทางเลือกในการลงทุนตราสารหนี้ที่น่าสนใจ เพื่อทดแทนการฝากเงินในธนาคาร

⇒ ตั๋วแลกเงิน (B/E)

     หลายท่านที่แวะเวียนไปที่ธนาคารเป็นประจำ คงคุ้นเคยกับตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วบีอี โดยธนาคารออกตั๋วแลกเงินเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงินจากผู้ซื้อตั๋วแลก เงิน ดังนั้น ผู้ซื้อตั๋วแลกเงินจะเสมือนเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ตั๋วแลกเงินไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ถือตั๋วแลกเงินจะได้รับสูงกว่าการฝากเงินธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ถือตั๋วแลกเงินจะได้รับดอกเบี้ยเมื่อตั๋วแลกเงินครบอายุ (ได้รับพร้อมเงินต้น) หรือได้รับทุก 3 หรือ 6 เดือน ตามเงื่อนไขของธนาคาร โดยอายุของตั๋วแลกเงินมีตั้งแต่ 7 วัน จนถึงมากกว่า 1 ปี หากท่านสนใจลงทุนในตั๋วแลกเงิน สิ่งที่ท่านต้องใส่ใจนอกจากผลตอบแทนจากการลงทุน คือความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน เนื่องจาก หากสถาบันการเงินที่ท่านซื้อตั๋วแลกเงินต้องปิดตัวลงไป จะทำให้เงินลงทุนของท่านสูญไปได้

⇒ พันธบัตร

     หากท่านต้องการลงทุนกับหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสูง ขอแนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรค่ะ พันธบัตรเป็นตราสารทางการเงินที่ออกโดยหน่วยงานของภาครัฐเช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชนสำหรับนำไปพัฒนาประเทศ หากเปรียบเทียบกับตั๋วแลกเงินแล้ว การลงทุนในพันธบัตรจะมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานกว่าค่ะ โดยเริ่มต้นที่ 3 ปี ขึ้นไป ดังนั้น หากสนใจลงทุนในพันธบัตร เงินก้อนที่มีคงจะต้องเป็นเงินเย็นที่สามารถลงทุนยาวได้ ทั้งนี้ แม้ว่าการลงทุนในพันธบัตรจะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างนาน แต่นักลงทุนมีโอกาสได้รับดอกเบี้ยทุก 3 หรือ 6 เดือน ตามเงื่อนไขของพันธบัตรนั้นๆ

⇒ หุ้นกู้

     หากท่านรู้สึกว่า การลงทุนตั๋วแลกเงินหรือพันธบัตรได้รับผลตอบแทนที่น้อยเกินไป หุ้นกู้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ หุ้นกู้เป็นตราสารทางการเงินที่บริษัทต่างๆ ออก เพื่อกู้ยืมเงินจากนักลงทุน สำหรับนำไปขยายกิจการ หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน แทนการกู้ยืมจากธนาคาร จากการที่ผู้ออกหุ้นกู้เป็นบริษัทซึ่งมีความมั่นคงน้อยกว่าหน่วยงานของภาครัฐ ส่งผลให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับสูงกว่าการลงทุนในพันธบัตร อย่างไรก็ตาม หากต้องการเปรียบเทียบระหว่างบริษัทว่า บริษัทไหนมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน นักลงทุนสามารถพิจารณาได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เช่นบริษัท A มีอันดับความน่าเชื่อถือ AAA และบริษัท B มีอันดับความน่าเชื่อถือ A แสดงว่าบริษัท A มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีกว่า แต่นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ของบริษัท A ก็จะได้รับผลตอบแทนที่น้อยกว่าบริษัท B เนื่องจากบริษัท A มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือมากกว่า สำหรับการจ่ายดอกเบี้ยของหุ้นกู้จะคล้ายคลึงกับการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตร คือ จ่ายทุก 3 หรือ 6 เดือน

     สำหรับนักลงทุนที่อยากลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ แต่ปัจจุบันภาครัฐหรือบริษัทยังไม่จำหน่ายตราสารดังกล่าว ท่านสามารถลงทุนตราสารทางการเงินเหล่านี้ผ่านตลาดรองได้ ซึ่งเป็นการซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายแล้วในอดีต โดยเป็นการซื้อขายระหว่างนักลงทุนด้วยกันเอง ช่องทางในการซื้อขายผ่านตลาดรองมี 2 ช่องทางได้แก่ ตลาดตราสารหนี้ BEX หรือธนาคารพาณิชย์ต่างๆ  ทั้งนี้ ราคาที่ซื้อขายในตลาดรองจะแตกต่างจากราคาที่ซื้อขายครั้งแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อและขายของตราสารในช่วงที่ทำการซื้อขาย

     การลงทุนในตราสารทางการเงินทั้ง 3 ประเภทข้างต้น แม้ว่าจะเป็นตราสารหนี้ที่ดูเหมือนว่าเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย แต่ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของผู้ออกตราสารหนี้ว่ามีความน่าเชื่อถือและมั่นคง หรือไม่ หรือความเสี่ยงของสภาพคล่องในการลงทุน หากจะต้องลงทุนในตราสารที่มีอายุยาวนาน ดังนั้น ก่อนลงทุนในตราสารทางการเงิน นักลงทุนทุกท่านคงจะต้องทำการบ้าน โดยการศึกษาข้อมูลเสียก่อนว่า ตราสารที่คุณสนใจนั้น เหมาะสมสำหรับคุณหรือไม่ รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาด เพื่อให้สามารถลงทุนในตราสารหนี้ได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล อย่างที่ตั้งใจได้

    Choose :
  • OR
  • To comment