บริหารเงินอย่างไรให้ลงตัว

 

            ว้าว ! สิ้นเดือนแล้ว ถึงเวลารับทรัพย์เข้ากระเป๋า แบบนี้ต้องฉลองกันสักหน่อย
            แต่ช้าก่อนครับ คุณกำลังแหกกฎทองของการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองนะ เพิ่งจะได้รับเงินก้อนใหญ่มาก็จะเอาไปใช้จ่ายเสียแล้วหรือ อย่าลืมไปว่าเงินก้อนนั้นคือเงินที่คุณจะต้องจัดสรรปันส่วนให้ลงตัว เพื่อความมั่นคงของเสาหลักทางการเงินจะได้ไม่คลอนแคลนตลอดทั้งเดือนไงล่ะ เมื่อเงินเดือนออก ลองแบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ โดยการแบ่งงบค่าใช้จ่ายรายเดือนนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้จ่ายของแต่ละคน แต่ควรให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุน รวมกันแล้วไม่ควรต่ำกว่า 20%  ของเงินเดือน เพื่อจะได้เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงในอนาคต

            หลังจากจัดสรรค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนต่าง ๆ ลงตัวแล้ว สิ่งต่อไปที่ผู้ปรารถนาความมั่งคั่งและอิสรภาพทางการเงินต้องทำ คือ การสร้างวินัยในการจับจ่ายใช้สอย เพราะถึงจะมีการแบ่งค่าใช้จ่ายไว้ดีเพียงไร แต่ไม่เคยมีวินัยในการเงินแล้วละก็ ไม่มีประโยชน์ วินัยทางการเงินที่ควรทำให้กลายเป็นนิสัยถาวรของเรามีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง แม้จะเป็นเรื่องน่าเบื่อในตอนแรก แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าทำตามนี้ได้สัก 2-3 เดือน นอกจากจะช่วยให้สามารถควบคุมรายจ่ายได้อย่างที่ฝัน ยังเป็นการปลูกฝังนิสัยการจับจ่ายเหล่านี้ไปในตัวเราด้วย
1. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อแนวทางการใช้เงินแต่ละเดือน รวมทั้งกำหนดเป้าหมายของการออม การที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินอย่างที่ฝันไว้ได้นั้น แนะนำให้ควบคุมการใช้จ่ายให้ได้ตามงบ คือ ไม่เกิน 80-90% ของรายได้ เงินที่เหลือจะได้นำไปลงทุนต่อไป
โบกมือลา : การใช้เงินล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิต โดยที่ไม่มีเงินสดอยู่ในมือ จะทำให้เราต้องดิ้นรนหาเงินมาโปะหนี้ที่ก่อขึ้น ซึ่งไม่ใช่วิสัยของการใช้เงินแบบมีเป้าหมาย

2. ตัดใจจากของสวย ๆ งาม ๆ บ่อยครั้งที่เรามักมีรายจ่ายฟุ่มเฟือยที่หมดไปกับของยกระดับรสนิยม เช่น รองเท้า กระเป๋า หรือนาฬิกาแบรนด์เนมทั้งหลาย ที่ได้จับจ่ายไปเกินฐานะ ทั้งที่ของเหล่านั้นหาใช่สิ่งของจำเป็นกับชีวิตแต่อย่างใด
โบกมือลา : นิสัยถูกใจซื้อเลย โดยไม่พิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้งาน จะทำให้เงินหลุดออกจารกระเป่าไปโดยเปล่าประโยชน์ แถมซื้อไปแล้วไม่ได้ใช้ยิ่งจะเป็นการสะสมสิ่งของให้เปลืองพื้นที่ในการเก็บอีกต่างหาก เรียกว่าเป็นการสิ้นเปลืองสองต่อเลยทีเดียว

3. อย่าหลังลาภลอย ไม่ใช่เฉพาะถูกหวยลอตเตอรี่เท่านั้น แต่หมายรวมถึงโบนัสและเงินปันผลต่าง ๆ ซึ่งไม่ควรเอามารวมไว้เป็นเงินค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพราะหากเงินนั้นลอยหายไปในอากาศ จะมีผลกระทบกับแผนการเงินของเราได้
โบกมือลา : การบริหารเงินแบบตามใจตัวเอง โดยไม่รู้ว่าอะไรคือรายรับประจำ อะไรคือรายได้จร ที่นาน ๆ มาเยือนที และเลิกให้รางวัลตัวเองด้วยการใช้เงินซื้อข้าวของฟุ่มเฟือยราคาแพง ๆ มาเป็นการเก็บเงินแทนจะดีกว่า

4. ต้องตัดและต้องลด หากเราไม่สามารถปรับรายรับ-รายจ่ายในกระเป่าให้สมดุลลงตัว เราคงต้องตัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นน้อยที่สุดบางอย่างออกไปบ้าง ก็น่าจะช่วยให้เงินทองเพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือนมากขึ้น
โบกมือลา : การใช้เงินเกินฐานะ เพราะความอยากดูดีมีหน้าตาทัดเทียมคนอื่น ทำให้เราต้องจ่ายเงินเกินความจำเป็นและเกินรายรับอยู่เสมอและถ้ามีหนี้สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นหนี้ก้อนโตให้ต้องมานั่งชำระภายหลัง

5. ปรับปรุงนิสัยการใช้จ่าย เมื่อทำงบประมาณค่าใช้จ่ายได้แล้ว เราก็ควรมีวินัยในการใช้จ่ายให้ได้ตามงบที่ตั้งเอาไว้ และต้องเตรียมพร้อมรับมือสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
 โบกมือลา : การขาดความรับผิดชอบทางการเงิน นิสัยนี้วัดได้จากการใช้เงินแบบชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะนอกจากจะเป็นการไม่รับผิดชอบต่อตัวเองแล้ว ยังเป็นการไม่รับผิดชอบต่อคนอื่นที่เราจะไปหยิบยืมเงินเขาอีกด้วย





    Choose :
  • OR
  • To comment