ชี้ทางออกให้คนรวยหนี้

 

รูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันเต็มไปด้วยรายจ่าย ทำให้มีโอกาสสร้างหนี้ได้สูง การใช้จ่ายเงินจึงต้องดูกำลังความพร้อมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการซื้อสินทรัพย์ที่เป็นปัจจัยหลักซึ่งต้องผ่อนชำระระยะยาว เช่น รถยนต์ คอนโดมิเนียม หรือบ้านจัดสรร อาจจะต้องเปลี่ยนทัศนคติจากที่เคยมองว่าเป็นสินทรัพย์ให้กลับมาเป็นภาระก่อน
            เพราะหากเริ่มต้นจากจุดนี้จะทำให้รอบคอบมากขึ้น และพิจารณาอย่างละเอียดว่าเรามีกำลังในการผ่อนชำระไหวไหม แต่บางครั้งบางคราชีวิตคนเราก็อาจตกหลุมอากาศกันได้บ้างแต่เราควรหมั่นเช็กสภาพคล่องทางการเงินของเราเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรครวยหนี้


เช็กอาการ “รวยหนี้”
            สำหรับอาการของผู้ที่เป็นโรคหนี้สินล้นพ้นตัว หรือรวยหนี้มากกว่ารวยเงิน ก็คือ
            เริ่มชำระหนี้ล่าช้า และชำระได้แต่ยอดขั้นต่ำของบัตรแต่ละใบ
            ต้องเบิกเงินสดจากบัตรหนึ่งมาจ่ายหนี้บัตรอีกใบหนึ่ง
            ไม่รู้ว่าภาระหนี้สินทั้งหมดมีอยู่เท่าไร
            ไม่เหลืองเงินพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะต้องเอาไปใช้หนี้หลายราย
            ได้รับโทรศัพท์หรือจดหมายทวงหนี้
            อาการข้างเคียงที่ตามมาก็คือ ความเครียด ทุกข์ใจ ไม่มีกำลังใจทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย รวมทั้งอาจทำให้บุคคลในครอบครัวได้รับผลกระทบไปด้วย
            สุขภาพทางการเงินก็เหมือนกับสุขภาพกาย ที่ต้องดุแลและเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรักษา “ป่วยกาย” ปวดหัว ตัวร้อน หาหยูกยากินก็พอบรรเทา หรือถ้าหนักหนาสาหัสร้ายแรงก็ยังมีหมอมีโรงพยาบาลที่จะรักษาเยียวยาได้ แต่ถ้า “ป่วยทางการเงิน” จะรักษาอย่างไร

บำบัดอาการรวยหนี้
            อาการยังไม่รุนแรง คือรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันยังเหลือพอที่จะชำระหนี้ได้ แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี เพราะหนี้สินพัวพันอีนุงตุงนังไปหมด สิ่งที่ควรทำก็คือ
            หยุดทันที ถ้ามีพฤติกรรมกู้หนี้มาจ่ายหนี้ต้องหยุดทันที เพราะนั่นคือสาเหตุของโรคทั้งหมด จากนั้นทยอยปิดบัญชีหนี้ไปทีละราย เลิกจ่ายหนี้แบบเบี้ยหัวแตก ที่กระจายจ่ายหนี้ทุกราย แต่ชำระได้แค่ยอดขั้นต่ำ 500 – 1,000 บาท
            ทำบัญชีหนี้สิน ดูว่ามีทั้งหมดกี่รายการ แต่ละรายกู้มาเท่าไร จ่ายไปแล้วเท่าไร และเหลืออีกเท่าไรที่ต้องจ่าย แยกหนี้ที่มีออกเป็นประเภทต่าง  ๆ ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อเงินสด หนี้บัตรเงินผ่อนเช่าซื้อสินค้า เพราะหนี้แต่ละแบบมีวิธีจัดการไม่เหมือนกัน
            เริ่มจากหนี้เช่าซื้อสินค้า ถ้าเหลือยอดค้างอีกไม่มากให้ปิดบัญชีหนี้พวกนี้ก่อน เพื่อที่คุณจะได้เป็นเจาของกรรมสิทธิ์สินค้าที่เช่าซื้อมา แต่ถ้ายังผ่อนไม่หมด ห้ามขายหรือทำหายเด็ดขาด เพราะถ้าเจ้าหนี้ที่ให้เช่าซื้อมาทวงของคืนเนื่องจากไม่มีเงินจ่ายแล้วไม่มีของคืน คุณอาจเจอคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์
            ปิดหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อเงินสด โดยเรียงลำดับจากหนี้ที่เหลือยอดค้างชำระน้อย ไปหาหนี้ที่ยังคงค้างชำระมาก ทยอยชำระหนี้ปิดบัญชี จ่ายหนี้ทีละราย เริ่มจากหนี้ที่เหลือน้อยก่อน จำไว้ว่าคุณไม่จำเป้นต้องจ่ายเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมกันอย่างที่เคยทำมา
            อาการหนักปางตาย สำหรับผู้ที่อาการหนักอย่างนี้คือ ลำพังรายได้ที่มีอยู่ก็แทบจะไม่พอกินอยู่แล้ว จึงไม่มีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้ได้ แบบนี้เห็นทีจะต้องใช้วิธีหยุดจ่ายหนี้ทุกรายการ
            รีไฟแนนซ์ยืดหนี้ ถ้าใช้หนี้แล้วเหลือเงินไม่พอใช้สอยในชีวิตประจำวัน ก็ลองรีไฟแนนซ์เพื่อยืดหนี้ออกไป อย่าไปตกหลุมพรางหาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าหนี้ล่ะ เพราะนอกจากไปไม่ช่วยแล้วยังเพิ่มหนี้เข้าไปอีก ต้องหารีไฟแนนซ์ที่มีดอกเบี้ยต่ำว่า ถ้าเป็นหนี้บัตรเครดิต 3 ใบ ก็อาจเลือกรีไฟแนนซ์แค่ 1-2 ใบก็พอ ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนหนี้ได้ดีแล้วยังมีเงินเหลือแต่อย่าลืมว่ามีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย คือจะต้องเป็นหนี้นานขึ้นกว่าเดิมจาก 20 เดือนเป็น 42 เดือนแทน
            ปรับโครงสร้างหนี้ อาจติดต่อเจ้าหน้าที่บัตรเครดิตขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งก็คือการทำสัญญาใหม่ที่มักจะรวมเงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับทั้งหมด ค่าธรรมเนียมการติดตามหนี้ ข้อดีก็คือช่วยยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หรือถ้าติดทั้งหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลกับเจ้าหนี้เดียวกัน อาจได้ข้อเสนอให้รวมหนี้มาเป็นยอดเดียวกัน และคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าเดิม แต่อย่าลืมว่าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีอายุความต่างกัน การคิดดอกเบี้ยก็อยู่ในอัตราที่ต่างกัน ถ้าไม่มีเงินจ่ายหนี้ในกรณีที่มีหนี้หลายตัว ก็ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้ เพราะถ้าผิดนัดแม้แต่งวดเดียวอาจถูกอายัดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือนได้
            ยื่นขอประนอมหนี้ต่อศาล เข้าทำนองไม่มี ไม่หนี แต่ยังไม่จ่ายยอมขึ้นศาลซะดีกว่า เพราคดีหนี้สินเชื่อบุคคลเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ไม่มีโทษจำคุก และจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ เพราะจะช่วยยืดเวลาให้ได้ตั้งตัว ตั้งสติ ไม่ต้องนำเงินเดือนไปใช้หนี้จนหมด แถมยังมีโอกาสต่อรองลดหนี้จากพวกดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าติดตามทวงถามที่สูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดกับเจ้าหนี้ในศาลได้ เพราะดอกเบี้ยที่แฝงมาในรูปของการคิดค่าธรรมะเนียมการใช้วงเงินที่ซ้ำซ้อนเหล่านี้ ลูกหนี้ไม่ต้องจ่าย ศาลจะสั่งให้เป็นโมฆะ

Money Tips :
            ที่ปรึกษาด้านการเงินบอกไว้ว่า ไม่ควรจ่ายหนี้เกิน 20% ของรายได้ในแต่ละเดือน เพราะฉะนั้น หากคุณเริ่มรู้ตัวว่าต้องจ่ายหนี้มากกว่า 20% ของรายได้แล้วละก็ รีบยกเลิกการใช้บัตรเครดิตและจดบันทึกประจำวันเพื่อหาวิธีเซฟเงิน ถ้ามีสินเชื่อเหลายที่ให้โอนหนี้รวมเป็นที่เดียวก็จะง่ายต่อการจ่ายหนี้และดอกเบี้ย
            วัคซีนป้องกันโรครวยหนี้คือ ใช้จ่ายอย่างประหยัด อย่ากินใช้เกินตัว มีวินัยทางการเงิน
            มีปัญหาหนี้ ปรึกษาชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org ตลอด 24 ชั่วโมง


    Choose :
  • OR
  • To comment