กองทุนบำนาญไทยกำลังถูกมองว่าลงทุนเสี่ยงน้อยไปรึเปล่า ซึ่งปัญหาที่ตามมาอาจทำให้มีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ ลองมาติดตามเรื่องนี้ดู
ปัจจุบัน “กองทุนบำนาญ” ในโลกส่วนใหญ่จะเป็น “กองทุนบำนาญประเภทที่กำหนดอัตราเงินนำส่ง (Defined Contribution : DC)” เป็นระบบที่สมาชิกจำเป็นต้องมี “ความรู้” และ “ความเข้าใจ” เพื่อที่จะเลือกแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเองพร้อมกับรับผิดชอบในทางเลือกของตัวเองนั่นเอง
ในประเทศไทยเองนั้นพบว่ากองทุนบำนาญในไทยยังมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่น้อยเกินไป ในระบบ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ประมาณ 11% ในขณะที่ “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)” เองก็ลงทุนในหุ้นสูงสุดไม่เกิน 35% เมื่อเทียบกับ “กองทุนบำนาญในโลก” ที่มีการลงทุนในหุ้นเฉลี่ย 60 - 70% ก็อาจทำให้สมาชิกกองทุนบำนาญของไทยเองนั้นมีเงินไม่เพียงพอที่จะใช้ในช่วงเกษียณได้เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านี้ “อัตราเงินสะสม” เข้ากองทุนของ “กองทุนบำนาญไทย” เองในปัจจุบันยังถือว่ายังค่อนข้างต่ำเฉลี่ยประมาณ 5 - 6% เท่านั้น นี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลถึงเป้าหมายชีวิตหลังเกษียณได้เช่นกัน เรามีมุมมองของผู้คนในแวดวงเงินออมเพื่อเกษียณทั้งในต่างประเทศและในประเทศมาฝากกัน
@ กองทุนบำนาญในไทยยังเล็ก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) บอกว่า “กองทุนบำนาญ” นั้นเป็นกลไกที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการและการเติบโตต่อระบบเศรษฐกิจโดยองค์รวม จากรายงานของ “Tower Watsons” ในปี 2002 ระบุว่ากองทุนบำนาญขนาดใหญ่ในโลก 300 แห่ง มีสินทรัพย์สุทธิรวมกันถึง 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ “Morgan Stanley” รายงานเมื่อปี 2008 ว่ากองทุนบำนาญทั่วโลกมีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่กว่ากองทุนรวม กองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge Fund) หรือแม้แต่หุ้นของกิจการเอกชน ทาง OECD ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญการศึกษาเกี่ยวกับกองทุนบำนาญได้ศึกษากองทุนบำนาญในประเทศสมาชิกและระบุว่ามีเม็ดเงินในกองทุนบำนาญถึง 67% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
สำหรับประเทศไทยเองนั้นขนาดกองทุนบำนาญมีสัดส่วนเพียง 17% ของ GDP ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอีกหลายประเทศ นั่นหมายความว่า ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องทำงานมากขึ้นเพื่อให้ผู้สูงวัยในประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมที่เหมาะสมเพื่อการเกษียณและในอีกด้านยังหมายถึงประเทศไทยมีสินทรัพย์ในระบบบำนาญเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศน้อยเกินไปด้วย
“จากการศึกษาของธนาคารโลก พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนครอบคลุม (Coverage Ratio) คือ จำนวนคนทำงานและนำส่งรายได้เข้าสู่ระบบบำนาญภาคบังคับหารด้วยจำนวนแรงงานอยู่ประมาณ 20% ในขณะที่ในยุโรปประมาณ 60% ละตินอเมริกา 20% และเอเชียแปซิฟิกประมาณ 15% ประเทศไทยถือว่าไม่ต่ำและไม่สูง ในส่วนของอัตราส่วนทดแทน (Replacement Ratio) ที่หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้เมื่อเกษียณและรายได้หลังเกษียณนั้น ข้าราชการไทยและอยู่ในระบบบำนาญ กบข. อยู่ประมาณ 70% ในขณะที่ 30 ประเทศของ OECD อยู่ที่ประมาณ 59% จึงถือได้ว่าระบบบำนาญของไทยไม่เป็นสองรองใครในโลก”
@ ลงทุนในหุ้นน้อยไป
ด้าน “ธนศักดิ์ กรรณสูต” ผู้จัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญ เชลล์ กรุ๊ป บอกว่า กองทุนบำนาญของไทยยังลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ กองทุนบำนาญของเชลล์เองลงทุนในหุ้นประมาณ 45% ถ้าต้องการผลตอบแทนที่ดีก็ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงด้วยเช่นเดียวกันและเนื่องจากกองทุนบำนาญเป็นเงินลงทุนระยะยาวอยู่แล้วบริษัทจึงไม่ได้ตกใจกับความผันผวนของตลาดหุ้นในระยะสั้นแต่ประการใด ในระยะ 30 ปี จากข้อมูลในอดีตถ้าลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนประมาณ 100% และถ้าผสม “หุ้น” กับ “ตราสารหนี้” อย่างละ 50% ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ 300% ในระยะเวลา 30 ปี ดังนั้นการให้การศึกษากับสมาชิกกองทุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
“ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เอง ก็ควรจะต้องเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนบำนาญได้แล้ว เพราะเป็นการลงทุนในระยะยาวถ้าให้กองทุนหลักมีแผนการลงทุนที่ระมัดระวังมากเกินไป ในทางหนึ่งอาจจะเสมือนหนึ่งเป็นการป้องกันสมาชิกไม่ให้เจ็บตัวจากการลงทุน แต่ก็เป็นความเสี่ยงในอนาคตที่จะกลับมาว่าสมาชิกมีเงินไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในวัยเกษียณ เรื่องการลงทุนสมาชิกกองทุนสามารถเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ทันทีไม่ต้องรอใครสามารถที่จะทำได้เลย”
@ เงินสะสมสำคัญไม่แพ้ผลตอบแทน
ขณะที่ “เคิร์ก เวสท์” กรรมการบริหาร อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเม้นท์ พรินซิเพิล โกลบอล บอกว่า ไม่เพียงเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนเท่านั้นอีกส่วนที่สำคัญ คือ “เงินสะสมของสมาชิก” ต้องมีมากเพียงพอด้วย เช่น ออสเตรเลีย 12% ของเงินเดือนเก็บเพื่อเกษียณ หรือในฮ่องกง 10% โดยนายจ้างสมทบให้ 5% ลูกจ้าง 5% เป็นต้น “อัตราการออมขั้นต่ำ” และ “ผลตอบแทน” จากการลงทุนที่จะได้รับเป็นส่วนสำคัญต่อเป้าหมายการออมเพื่อเกษียณ ในส่วนของ กบข.เองอัตราการสะสมยังค่อนข้างต่ำประมาณ 3.0% เท่านั้น ไม่เพียงเท่านี้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นของกบข.ที่ประมาณ 35% ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทุนบำนาญอื่นในโลกที่เฉลี่ยประมาณ 60 - 70% ดังนั้น กบข. น่าจะมีแผนการลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนที่มากขึ้นกว่าในปัจจุบันเป็นทางเลือกเพิ่มเติมเข้ามาด้วย
ปัจจุบัน ประชากรประมาณ 75% ของสหรัฐ จะมีแผนบำนาญเพื่อเตรียมรับวัยเกษียณของเขากันแล้ว จากแนวโน้มของการมีอายุหลังเกษียณที่ยาวนานขึ้นอาจทำให้ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจริงอาจจะเกินกว่าที่ได้เตรียมเงินกันเอาไว้เพียงพอ ในหลายประเทศก็มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาโดย “ยืดระยะเวลาเกษียณอายุงานออกไป” จากเดิม 60 ปี เป็น 70 ปี เป็นต้น นอกจากนี้อีกส่วนที่สำคัญ คือ การให้ความรู้กับสมาชิกเพื่อการออมอย่างถูกต้อง
“ในหลายประเทศได้มุ่งมั่นในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออมเพื่อเกษียณผ่านระบบบำนาญโดยได้ปลูกฝั่งให้กับเยาวชนโดยบรรจุไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถม-มัธยมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนการเงินและการออมไปเลย เพราะการจะมาดึงคนในวัยทำงานให้สนใจในเรื่องการออมค่อนข้างจะทำได้ยาก แต่นายจ้างและคณะกรรมการกองทุนก็จำเป็นต้องให้ความรู้กับสมาชิกด้วยเช่นกัน เพราะรูปแบบกองทุนบำนาญประเภทที่กำหนดอัตราเงินนำส่ง (Defined Contribution : DC) เป็นระบบที่สมาชิกจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเพื่อที่จะสามารถเลือกการลงทุนที่เหมาะสมในการสร้างผลตอบแทนที่ดีเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่เพียงพอของตัวเองให้ได้”
@ ระบบบำนาญแบบ DC
“นาโอมิ เดน” กรรมการผู้จัดการ ทาวเวอร์ วัตสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มองว่า ปัจจุบันคนหลังเกษียณมีแนวโน้มจะมีอายุที่ยาวขึ้นดังนั้นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่ยาวขึ้น 20 - 30 ปี จึงต้องมีมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอ แล้วรูปแบบของกองทุนบำนาญในปัจจุบันก็เปลี่ยนจากเดิมที่เป็น “กองทุนบำนาญประเภทกำหนดผลตอบแทนล่วงหน้า (Defined Benefit : DB)” ซึ่งอาจไม่เหมาะกับโลกในปัจจุบันมาสู่ “กองทุนบำนาญประเภทที่กำหนดอัตราเงินนำส่ง (Defined Contribution : DC)” เป็นระบบที่สมาชิกจำเป็นต้องมี “ความรู้” และ “ความเข้าใจ” เพื่อที่จะสามารถเลือกการลงทุนที่เหมาะสมในการสร้างผลตอบแทนที่ดีเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่เพียงพอของตัวเองให้ได้ เพราะเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงมาสู่ตัวสมาชิกโดยตรง ต่างจากระบบ DB ซึ่งการกำหนดผลตอบแทนที่สมาชิกจะได้รับไว้ล่วงหน้าก็สร้างปัญหาให้เช่นกันเพราะหากเงินลงทุนสร้างผลตอบแทนไม่เพียงพอเงินออกมากกว่าเงินเข้าก็กระทบเสถียรภาพกองทุนได้เช่นกัน จนบางครั้งต้องมาปรับลดผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับลงเนื่องจากกองทุนไม่มีเงินที่เพียงพอ เป็นต้น
นั่นเป็นเหตุให้กองทุนบำนาญประเภท DB เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของ DC มากขึ้นในปัจจุบัน แต่รูปแบบนี้สมาชิกจำเป็นต้องมีความเข้าใจเพื่อให้เขาสามารถวางแผนการเงินเพื่อลงทุนอย่างเหมาะสมในระยะเวลาการลงทุนที่ค่อนข้างยาวนาน 30 - 40 ปี ข้างหน้า เพื่อให้มีเงินเพียงพอไว้ใช้ตอนเกษียณจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“แนวคิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ คือ Target Date Fund โดยกองทุนจะมีการลงทุนผสมระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงในสัดส่วนต่างๆ ขึ้นกับช่วงอายุของสมาชิก โดยจะมีการลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงลดลงเมื่อเข้าใกล้วัยเกษียณ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้สมาชิกมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ เพราะการลงทุนระยะยาวถ้าลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำไปก็อาจทำให้มีเงินไม่เพียงพอในช่วงเกษียณได้เช่นกัน”
@ หวั่นคนไทยมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “อารยา ธีระโกเมน” กรรมการอำนวยการ บลจ.ทิสโก้ ในฐานะอุปนายกและประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยอมรับว่า กองทุนบำนาญของไทยยังมีการลงทุนใน “สินทรัพย์เสี่ยง” หรือหุ้นน้อยเกินไปนั่นจะทำให้สมาชิกมีความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่เพียงพอที่จะใช้หลังวัยเกษียณ โดยปัจจุบันธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเม็ดเงินในระบบประมาณ 6.1 แสนล้านบาท ลงทุนในหุ้นประมาณ 11% เท่านั้น หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เทียบกับในอดีตปี 2547 ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสินทรัพย์ประมาณ 4 แสนล้านบาท กลับมีการลงทุนในหุ้นประมาณ 13% หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ถือว่าหากเทียบกับในอดีตแล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไทยมีการลงทุนในหุ้นยังเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยจริงๆ แต่ประเด็น คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไทยเป็น “ภาคสมัครใจ” และมี “คณะกรรมการกองทุน” เป็นผู้วางนโยบายการลงทุนเอาไว้ให้กับสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเน้นปลอดภัยและมั่นคงเพราะไม่อยากมีปัญหา
เมื่อมี “ทางเลือกการลงทุน (Employee’s Choices)” ให้กับสมาชิกแล้ว ก็พบปัญหาใหม่ คือ สมาชิกเลือกไม่เป็นหรือไม่สนใจเลือก เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมาชิกส่วนใหญ่มองว่าได้มาเพราะบริษัทมีแต่ตัวเองไม่ได้สนใจอะไรอยู่แล้ว จึงไม่มีความกระตือรือร้นในเรื่องการวางแผนการลงทุนให้เท่าไรนัก จะให้บริษัทจัดการลงทุนไปบริหารผิดไปจากกรอบนโยบายที่คณะกรรมการกองทุนของแต่ละบริษัทวางเอาไว้ก็ไม่ได้อีก
“แต่หลังจากมี Employee’s Choices แล้ว ก็พบพัฒนาการที่ดีขึ้น และหวังว่าในอนาคตสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจะขยับขึ้นไปอยู่ประมาณ 15 - 20% ซึ่งเป็นกรอบนโยบายที่จะทำให้การลงทุนในระยะยาวแล้วเงินต้นมีความปลอดภัยสูง ในขณะเดียวกันผลตอบแทนจากการลงทุนก็มากเพียงพอที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อได้”
@ แนะใช้ RMF เสริมการลงทุนเพื่อเกษียณ
โดย อารยา แนะนำว่า แนวคิดการออมที่เป็นระบบ DC นี้ ความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เมื่อลงทุนอย่างไรก็จะได้ผลตอบแทนอย่างนั้นต้อง “รับผิดชอบตัวเอง” เป็นเรื่องที่ “ภาครัฐ” ควรจะมีบทบาทและมองเป็นเรื่องที่สำคัญในระดับชาติเช่นกันในการที่จะปลูกฝั่งเรื่องของการออมเพื่อเกษียณอายุให้กับประชาชนคนไทยโดยใส่ไว้ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ต้นเลย ปัจจุบัน Employee’s Choices มีแล้ว แม้จะยังไม่ทุกบริษัท หรือมีแล้วแต่ยังมีนโยบายให้เลือกไม่หลากหลายนั้น ก็แนะนำให้สมาชิกเลือกลงทุนผ่าน “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)” แทนได้ เพราะมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการออมเพื่อเกษียณอายุเช่นกัน และกองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนที่ให้เลือกหลากหลาย ถ้าบริษัทสมาชิกในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีนโยบายเดียว คือ ลงทุนในตราสารหนี้ หรือ มีนโยบายเดียว คือ ผสมหุ้นไม่เกิน 20% เป็นต้น แล้วสมาชิกอยากจะลงทุนในหุ้นเพิ่มเติม ก็สามารถทำผ่านกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นได้เลย เป็นเสมือนหนึ่งการสร้างทางเลือกให้กับตัวเอง
“สำหรับอัตราส่วนเงินสะสมในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไทยในปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 5 - 6% เท่านั้น ทั้งที่กฎหมายเปิดให้สะสมได้สูงสุดถึง 15% ถ้ามองในแง่นี้ก็ถือว่าน้อยไป แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลยเพราะนี่คือการออมภาคสมัครใจ ซึ่งคงต้องมองไปในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นโรงงานอัตราส่งเงินสะสมเฉลี่ยจะต่ำลงเหลือ 2 - 3% แต่ถ้าเป็นบริษัทออฟฟิศอัตราการสะสมเฉลี่ยจะดีขึ้นเป็น 8 - 9% ก็มี แต่ถ้าใครคิดว่าอยากจะออมเพิ่มจริงๆ ก็สามารถทำผ่านกองทุน RMF ได้เช่นเดียวกัน”
@ กบข.มองทางเลือก-ต้องมากับความเข้าใจ
โดย “โสภาวดี เลิศมนัสชัย” เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ยอมรับว่า ข้อสังเกตในเรื่องการลงทุนในหุ้นที่น้อยไปรวมถึงอัตราเงินสะสมที่น้อยไปนั้นอาจจะเป็นปัญหาต่อความพอเพียงของเงินออมเพื่อเกษียณนั้นเป็นข้อสังเกตที่น่ารับฟัง แต่การลงทุนในกองทุนบำนาญในระบบแบบ DC นั้นเป็นเรื่องที่สมาชิกจะต้องสนใจในการหาความรู้เพื่อที่จะได้วางแผนและเลือกการลงทุนได้อย่างเหมาะสมกับตัวเองด้วย ปัจจุบันแม้ กบข.จะมีนโยบายการลงทุนให้สมาชิกเลือกถึง 4 นโยบายแล้วก็ตาม แต่สมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังเลือกอยู่ในนโยบายดั้งเดิมประมาณ 99% ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะสมาชิกไม่มีความเข้าใจหรือสมาชิกอาจจะกลัวว่าถ้าไปเลือกนโยบายอื่นแล้วต้องรับผิดชอบการลงทุนด้วยตัวเอง ซึ่งแนวคิดการลงทุนแบบ DC นี้นักลงทุนต้องดูแลการลงทุนของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเพิ่มทางเลือกแล้วสมาชิกเลือกไม่เป็นก็เป็นปัญหาเช่นกัน ในส่วนนี้ก็คงจะต้องพยายามให้ความรู้ทำความเข้าใจกับสมาชิกต่อไป และในอนาคตอาจจะพิจารณาเพิ่มแผนการลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มมากกว่าปัจจุบันก็ได้
“ในส่วนของการลงทุนในหุ้นแผนดั้งเดิมของ กบข. ก็มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นประมาณ 20% ส่วนทางเลือกการลงทุนที่มีหุ้นสูงสุดอยู่ที่ 35% นั้น ก็ถือว่าไม่น้อยจนเกินไป ในส่วนของเงินสะสมของสมาชิก กบข. 3% ถือว่าไม่มาก แต่เชื่อว่าหลังจากมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการแล้วก็น่าจะมีเงินสะสมของสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของเงินสะสมนี้ทาง กบข. ก็เปิดให้สมาชิกสามารถออมเพิ่มได้ถึง 12% แต่รัฐยังสมทบให้เท่าเดิม ขึ้นกับความสมัครใจของสมาชิกเองเพราะเปิดช่องให้ออมเพิ่มได้อยู่แล้ว”
@ ก.ล.ต. เตรียมเสนอแก้ พ.ร.บ.
ล่าสุด “วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บอกว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบให้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ใน 4 เรื่อง ได้แก่
1) การให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำ “ส่งเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่าเงินสมทบของนายจ้างได้” เพื่อเพิ่มเงินออมของลูกจ้างในกองทุนโดยไม่กระทบต่อการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง โดยในปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่านายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
2) ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพจากกองทุนเพราะออกจากงาน สามารถโอนเงินที่มีสิทธิได้รับจากกองทุน หรือเงินที่เหลือในกองทุนจากการขอรับเงินเป็นงวดไปยังกองทุน RMF หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีออกจากงานหรือชราภาพ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถออมเงินในกองทุนแบบผูกพันระยะยาวได้ต่อเนื่อง
3) ในกรณีวิกฤติเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ร้ายแรงที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง และลูกจ้างหรือนายจ้างที่ไม่พร้อมที่จะส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน สามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินดังกล่าวได้คราวละไม่เกินหนึ่งปี โดยต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจขยายระยะเวลาหรือกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติได้ตามความจำเป็น
4) การให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทกองทุนหลายนายจ้าง (pooled fund) มีทางเลือกในการบันทึกรายได้บางประเภทให้เหมาะสมกับลักษณะของสมาชิกกองทุน
“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและครอบครัวมีลักษณะที่ผู้สูงอายุจะต้องพึ่งพิงตนเองมากขึ้น แต่อัตราการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุของประชากรค่อนข้างต่ำ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาวให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง จึงสมควรแก้ไขกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อส่งเสริมการออม ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. นี้ต่อกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป”
เรื่องการออมเพื่อเกษียณนี้ ทุกคนควรจะตื่นตัว และเริ่มลงมือทำด้วยตัวเองได้ทันที เพราะรูปแบบการออมในลักษณะของ DC นั้น ผู้ออมต้องรับผิดชอบเงินของตัวเองอยู่แล้ว เพื่อเป้าหมายชีวิตหลังเกษียณ ที่มีความสุขในอนาคต
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ