การวางแผนการเงิน 7 ประการ ที่ "ซิงเกิลมัม" ต้องรู้

 

ยุคสมัยที่การหย่าร้างกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน   เมื่อชีวิตคู่ต้องร้างรา  ขาดหุ้นส่วนชีวิตมาคอยแชร์ในทุกๆ เรื่อง  แน่นอนว่าแผนการเงินของคุณย่อมต้องเปลี่ยนตามไปด้วย  หรือบางทีใช้ชีวิตคู่อยู่ดีๆ ฝ่ายพ่อบ้านมาชิงลาโลกไปซะก่อน คุณต้องกลายเป็นหม้ายโดยบังเอิญ  เมื่อฝ่ายหญิงต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการเลี้ยงดูลูกๆ เพียงลำพัง   มาดูกันว่าหากคุณเองก็เป็น "ซิงเกิลมัม" มีเรื่องเงินๆ ทองๆ อะไรบ้างที่คุณจำเป็นต้องรู้ 

ต้องยอมรับว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนในโลกที่ต้องการอยู่ในตำแหน่ง "ซิงเกิลมัม" การแต่งงานมีครอบครัวที่พร้อมหน้าพ่อ-แม่-ลูก เป็นความสุขของชีวิตที่สมบูรณ์แบบในชีวิตที่เกิดมาของลูกผู้หญิงโดยแทบจะไม่คำนึงถึงความสุขสบายทางฐานะมากมายนัก แต่เมื่อชีวิตนั้นเลือกให้เป็นอย่างที่ต้องการไม่ได้ สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ลูกมีความสุขและตัวของเรายืนหยัดเป็นหลักคนเดียวที่เหลืออยู่ให้มั่นคงมากที่สุด  มากน้อยแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับภาระหน้าที่และจำนวนของผู้อยู่ใต้อุปการะที่ต้องรับผิดชอบนั้นเป็นหลัก     "จันทนา กาญจนาคม" กรรมการผู้จัดการ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  บอกว่า  ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็น "ซิงเกิลมัม" หรือไม่   คุณผู้หญิงทุกคนก็ควรจะคำนึงถึงการออมเพื่อลูกไว้สำหรับเหตุการณ์ในอนาคตที่เราไม่มีโอกาสล่วงรู้มาก่อน เหมือนคำสอนในศาสนาพุทธที่สอนเราไว้เสมอว่า"ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" 

 1.จัดระเบียบเงินออม...สำคัญสุด
 "อุมาพันธ์ เจริญยิ่ง" ผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า  ถ้าพูดถึงซิงเกิลมัมที่เก็บเงินเลี้ยงลูกคนเดียว ก็ต้องยกนิ้วให้กับคุณแม่แสนเก่ง เพราะภาระค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นของส่วนตัวและของครอบครัว นับว่าเป็นรายจ่ายมิใช่น้อยที่จะต้องดูแล  ดังนั้น ถ้าให้เทียบกับคนทั่วไปแล้ว  ซิงเกิลมัม ก็ต้องออมมากกว่า เสี่ยงน้อยกว่า และต้องวางแผนใช้จ่ายเงินอย่างรัดกุม  

 แนะนำให้เริ่มจากเก็บเงินออมเป็นสภาพคล่องสำรองฉุกเฉิน ที่ควรมีไม่ต่ำกว่า 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน  จัดเป็นก้อนแรกเลยที่ซิงเกิลมัมต้องเก็บ เผื่อเหตุไม่คาดฝัน ลูกป่วย รถเสีย ตกงาน เงินออมก้อนนี้ก็จะช่วยให้คุณแม่อุ่นใจ ผ่านช่วงวันที่วุ่นวายได้ ส่วนที่สองที่ต้องแบ่งออม คือ เงินเพื่อการศึกษาของลูกน้อย เพราะค่าเล่าเรียนเดี๋ยวนี้ ไม่ได้มีเฉพาะค่าเทอมอย่างเดียว ค่าชุด ค่าเรียนพิเศษ ค่าทำกิจกรรม ค่าออกค่ายต่างๆ อีกจิปาถะเป็นอะไรที่คุณแม่ต้องคิดเผื่อ 

 ทางด้านจันทนามองว่าออมมากหรือน้อย คงขึ้นกับสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตของแต่ละคนและจำนวนผู้อยู่ในอุปการะที่ต้องรับผิดชอบนอกจากลูก เช่นบิดา มารดา หรือบริวารในบ้านอื่นๆ
 การเริ่มต้นวางแผนในการออม ควรจะเริ่มจากการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้รวมทั้งสำหรับลูกโดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ และกำหนดวงเงินที่ใช้ตามสัดส่วนของรายรับในแต่ละเดือน เช่น ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าใช้จ่ายพิเศษ รวมถึงเงินเพื่อออมหรือลงทุนสำหรับอนาคตของตนเองและการศึกษาของลูก
  ขณะที่ "จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการขายและการตลาด  บลจ.แอสเซท พลัส จำกัด   มองว่า การเป็นซิงเกิลมัม มีภาระหน้าที่หลักที่แตกต่างจากคนทั่วไปคือ ต้องรับผิดชอบในบทบาททั้งพ่อและแม่ในคนคนเดียวกัน ดังนั้น การเป็นซิงเกิลมัมที่ดีจึงควรมีวินัยทางการเงินที่ชัดเจนและเคร่งครัด และต้องคิดวางแผนทางการเงินโดยมองในระยะไกลๆ ออกไป ซึ่งสิ่งสำคัญของการวางแผนทางการเงินของซิงเกิลมัมคือ ต้องรู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านการใช้จ่ายของตนเองไม่ให้มากเกินไป หรือ น้อยจนเกินไป เพื่ออนาคตที่มั่นคงของลูกและของตนเอง 
สำหรับการเริ่มต้นวางแผนทางการเงินของซิงเกิลมัม คือ ควรแบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วน และต้องสม่ำเสมอเช่นนี้ทุกๆ เดือน โดยส่วนแรกจะเป็นการจัดสรรเพื่อการศึกษาของบุตร ส่วนที่สองวางแผนเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณอายุการทำงาน ส่วนที่สาม เพื่อป้องกันความเสี่ยงของครอบครัว โดยการวางแผนการทำประกัน และส่วนที่สี่ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

 "อีกส่วนหนึ่ง ต้องสำรองไว้สำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แนะนำเลือกลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินในระยะเวลาสั้นๆ โดยสำรองเงินประมาณ 30% เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องใกล้เคียงเงินสดอายุน้อยกว่า 1 ปี เช่น เงินฝากธนาคาร หรือ ตั๋วเงินคลัง , ตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือมากกว่า   1 ปี ประมาณ 25% , ลงทุนในหุ้นประมาณ 30% โดยแบ่งเป็นหุ้นในประเทศ 20% และหุ้นต่างประเทศ 10% ของพอร์ตการลงทุน , ลงทุนในทองคำประมาณ 10% และอีก 5% แนะนำลงทุนในน้ำมัน "

 "ดร.เมธี จันทวิมล" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต หรือ เอไลฟ์ เห็นว่าแผนการออมของซิงเกิลมัมควรจะถูกออกแบบโดยใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่หามา และหารายได้เสริม ซึ่งคงต้องกำหนดเป้าหมายทางการเงิน และจัดลำดับความสำคัญ 1) การจัดการความเสี่ยงของตนเองและครอบครัว 2) การจัดการพินัยกรรม 3) การจัดการภาษีส่วนบุคคล 4) จัดระเบียบเอกสารทางการเงิน แต่เดิมอาจจะเป็นบัญชีร่วม ทำการเปลี่ยนชื่อ การเปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์ และ 5) การบริหารเวลาทำงานให้สมดุลกับเวลาดูแลลูก  ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนดูแลลูก

 2.ลงทุนตามความรู้ความเข้าใจไม่ซับซ้อน
 อุมาพันธ์บอกว่า ซิงเกิลมัมควรกระจายการลงทุนให้มีทั้งในส่วนที่มีความเสี่ยงต่ำสร้างรายได้ประจำ และความเสี่ยงสูงอย่างเช่นหุ้น เพื่อสร้างโอกาสผลตอบแทนที่เติบโต  สินทรัพย์เสี่ยงยังคงลงทุนได้  แต่ไม่มาก โดยอาจแบ่งสัดส่วนลงทุนในหุ้นกู้ พันธบัตร หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ ประมาณ 50% เงินฝาก กองทุนตลาดเงิน 20% และแบ่งสัดส่วนลงทุนในหุ้นประมาณ 30% 
  
  จันทนาให้แง่คิดเรื่องลงทุนว่าเมื่อจัดสรรงบประมาณรายได้เพื่อใช้จ่ายของเราแล้ว จะเห็นว่ามีเงินบางส่วนที่ต้องกันไว้สำหรับเหตุจำเป็นในระยะสั้นและระยะยาวเงินส่วนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในขณะนั้น โดยส่วนใหญ่บางคนคงอดไม่ได้ที่จะต้องนำมาใช้จ่าย วิธีสร้างประสิทธิภาพในการออมที่ดีคือนำเงินดังกล่าวนั้นไปลงทุนระยะยาวซะ และจะเป็นประโยชน์ในการสร้างผลประโยชน์สะสมให้กับเงินที่ต้องออมดังกล่าว  และยังป้องกันไม่ให้นำเงินก้อนนั้นมาใช้ก่อนเวลาอันสมควรด้วย ส่วนจะลงทุนอะไรนั้นคงต้องขึ้นกับความรู้ความเข้าใจ และจำนวนเงินที่สามารถลงทุนรวมทั้งการยอมรับความเสี่ยงได้ของ” ซิงเกิลมัมแต่ละคนด้วย 
 
 "ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า หากต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อออมเงินสำหรับลูกหรือยามเกษียณให้แก่ตนเอง "ซิงเกิลมัม" บางคนอาจจะลงทุนในการซื้อทองคำหรือซื้อหุ้นปันผลหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้สม่ำเสมอและในเวลาเดียวกันก็สร้างโอกาสในการที่จะได้กำไรที่เพิ่มจากราคาของหุ้นหรือทรัพย์สินนั้นๆ ด้วย แต่บางคนซึ่งมีจำนวนเงินออมไม่สูงมากนักและไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนที่สลับซับซ้อนมาก ก็อาจเลือกลงทุนอย่างง่ายๆ ที่พอมองเห็นเช่น สลากออมสิน หรือ ออมทรัพย์ของ ธ.ก.ส.ซึ่งมีความมั่นคงจากดอกเบี้ยที่ได้รับสม่ำเสมอและอาจมีโอกาสได้เงินเพิ่มจากการถูกรางวัล "

 จารุลักษณ์เห็นว่า รูปแบบการลงทุนของซิงเกิลมัม ควรให้ความสำคัญเรื่องของระยะเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน เนื่องจากต้องคำนึงสภาพคล่องและความมั่นคง  โดยเงินในส่วนที่สำรองไว้สำหรับลูก ควรเลือกลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินในระยะปานกลาง-ยาว โดยจัดสรรพอร์ตการลงทุนเพื่อเลือกลงทุนในเงินฝาก และกองทุนตราสารหนี้ สัดส่วนประมาณ 45% ของพอร์ตการลงทุน , หุ้นในประเทศ ประมาณ 30% ของพอร์ตการลงทุน , หุ้นต่างประเทศ ประมาณ 15% ของพอร์ตการลงทุน และอีก 10% ของพอร์ตการลงทุน แนะนำลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน และทองคำ 

 ส่วนของแผนการลงทุนนั้น ดร.เมธีแนะว่าควรนำเงินส่วนเกินจากการออมทั้ง 3 ประเภท มาลงทุนต่อ แต่ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ ที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ควรลงทุนในระยะยาว และควรลงทุนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุน โดยควรจะลงทุนในหุ้นปันผล ที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดรับไว้ใช้จ่าย และกำไรในระยะยาว  ลงทุนในทองคำแท่ง/รูปพรรณ มีสภาพคล่องสูง สามารถใช้เป็นเครื่องประดับและสร้างกำไรในระยะยาว และลงทุนในกองทุนรวม เพื่อช่วยให้กระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในสินทรัพย์หลายประเภท และยังใช้เงินจำนวนไม่มาก
 3.จัดการความเสี่ยงด้วยประกัน
 สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยง อุมาพันธ์แนะว่าอาจเริ่มจากประกันแบบตลอดชีพ (Whole Life) คุ้มครองหากคุณแม่เป็นอะไรไป ก็มีมรดกให้กับลูก รวมทั้งมีเงินก้อนไว้ เพื่อปลดหนี้ก้อนสุดท้าย ประกันแบบนี้มีข้อดีคือ ค่าเบี้ยถูกกว่าประกันแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเหมาะในช่วงลูกเล็ก คุณแม่มีรายจ่ายสูงในขณะที่รายรับยังไม่มาก แนะนำให้ซื้อสัญญาเพิ่มเติมพวกโรคร้ายแรงสตรีอย่าง LadyPlus  เพื่อคุ้มครองโรคร้ายแรง อย่างมะเร็งเต้านม มดลูก เป็นต้น พอคุณแม่มีรายรับเพิ่มจากการทำงาน ก็ควรทำประกันเพื่อการศึกษาลูก 

      จันทนาแนะ "ซิงเกิลมัม" ว่าอาจใช้วิธีซื้อประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพให้ทั้งตนเองและลูก เพราะการที่มีรายได้จำกัดนั้นเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับตนเองหรือลูก จะร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงขนาดไหน สิ่งนี้เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองเมื่อหยุดทำงานไปแล้วและลูกประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บ ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่มีเลย หลายคนมักคิดว่าสิ้นเปลืองเงินที่จะจ่ายสู้เก็บเงินไปใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นดีกว่า  อยู่ๆ ไปจ่ายเงินให้บริษัทประกันปีละหลายๆ พันหลายๆ หมื่นทำไม 

 "ก็เหมือนซื้อรถแล้วถามหา air bag นั่นแหละ คุณยอมเสียเงินเพิ่มสำหรับรถยนต์ที่มีระบบป้องกันที่ดีแต่คุณไม่เคยต้องการให้เกิดเหตุที่ต้องพิสูจน์การใช้งานมันใช่หรือไม่  ยอมจ่ายเงินเพื่อความสบายใจดีกว่าเพราะคุณได้จัดเงินสำหรับสิ่งนั้นอยู่แล้วใช่หรือไม่"  ในมุมมองของจารุลักษณ์ เห็นว่าซิงเกิลมัมควรลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งกรมธรรม์ลักษณะนี้เบี้ยประกันจะต่ำ ทุนประกันสูง แต่เป็นการจ่ายเบี้ยประกัน “ทิ้ง” คือ ครอบครัวได้รับเงินในกรณีที่ผู้ทำประกันเสียชีวิต หรือ  ทุพพลภาพ และอีกส่วนอยากให้แบ่งเงินเพื่อซื้อประกันที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุ และเจ็บป่วย เช่น ประกันสุขภาพ และการทำประกันทรัพย์สิน อาทิ รถยนต์, บ้าน เป็นต้น 

 ในทัศนะของ ดร.เมธี เขามองว่าการจัดการความเสี่ยงนั้น ซิงเกิลมัมควรจะมีประกันชีวิต เพื่อเน้นความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต อย่างน้อย 6 - 8 เท่าของรายได้ทั้งปี และอาจจะเลือกประกันแบบสะสมทรัพย์ที่มีรูปแบบเงินคืนตามที่ต้องการ และควรระบุผู้รับผลประโยชน์ให้ชัดเจน  รวมถึงประกันทุพพลภาพก็ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และชดเชยได้อย่างน้อย 50-70% ของรายได้  และประกันสุขภาพ อาจต้องซื้อเพิ่มเติมจากสวัสดิการของบริษัทที่มีอยู่ 

 4.สะสมเงินเพื่อการศึกษาลูก
 อุมาพันธ์ยังแนะนำให้วางแผนเก็บเงินสองส่วน ส่วนแรกคือ การศึกษาในช่วงประถม ส่วนนี้ให้ทยอยเก็บเงิน ให้ได้เงินก้อน สำหรับการศึกษา โดยอาจเลือกเงินฝากทวีทรัพย์ หรือลงทุนในกองทุนรวม  ส่วนการศึกษาในชั้นปีสูงๆ ในระยะยาว ให้เก็บสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ เงินออมในกองทุนผสมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่าย ค่าเลี้ยงดู ส่วนที่สองคือ ซื้อประกันที่มีวัตถุประสงค์ออมบวกคุ้มครองเพื่อการศึกษาของลูก อย่าง ProEducation ที่ทยอยให้เงินคืนมาเป็นค่าเล่าเรียนช่วงมัธยมปลาย จนถึงปริญญาตรี การออมรูปแบบนี้ แม้ผลตอบแทนไม่สูง แต่มีข้อดี เผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันกับตัวเรา ก็ยังคงให้ความคุ้มครองตามเดิมมั่นใจได้ว่าลูกของเราเรียนจบ  โดยไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันอีก 
 
 ทันทีที่มีลูก จันทนาแนะว่าสิ่งแรกในการวางแผนทางการเงินให้กับลูกคือการเปิดบัญชีออมทรัพย์ให้ในนามของลูกทันที กำหนดวงเงินที่จะออมให้เป็นรายเดือน อย่ากำหนดรายเป็นปีเลยเพราะโอกาสที่จะไม่ได้ออมมีสูงมากเพราะความจำเป็นในการใช้จ่ายมีอยู่รอบตัวทุกวันและทุกเวลาโดยเฉพาะคนที่เป็น "ซิงเกิลมัม" ถามว่าทำไปเพื่ออะไร อย่างน้อยเพื่อการศึกษาของลูก ค่าใช้จ่ายตอนเข้าเรียนของลูกมีมากมาย อย่างน้อยลูกควรจะได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดตามอัตภาพ และไม่เป็นปมด้อยต่อตนเอง  แต่ไม่ใช่ให้ลูกอย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ขณะที่แม่ต้องประหยัดจนแทบจะไม่มีให้ตนเองอย่างนั้นก็ไม่ใช่ โดยวงเงินในการออมนั้นควรจะเท่ากันและสม่ำเสมอในแต่ละช่วงเวลา เมื่อนานวันเข้า "ซิงเกิลมัม" อาจมีรายได้เพิ่มขณะค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็นในการศึกษาของลูกก็สูงขึ้นเช่นกัน 

          การทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ให้แก่ลูกก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จันทนาใช้สำหรับการศึกษาของลูก โดยเหตุที่การทำประกันชีวิตลักษณะดังกล่าวมีระยะเวลาในการลงทุนที่จะได้เงินคืนเมื่อครบกำหนด 10-20 ปีขึ้นไป ซึ่งประโยชน์ที่จะได้มี 3 ประการคือ เป็นเงินออมที่ได้รับผลตอบแทน และคุ้มครองอุบัติเหตุและเจ็บป่วย  ได้รับเงินคืนตามที่กำหนด ซึ่งเราอาจกำหนดการลงทุนนั้นให้ครบกำหนดในช่วงเวลาที่ลูกต้องเข้าเรียนในชั้นเตรียมอุดม หรือชั้นอุดมศึกษา หรือตอนที่ลูกจะต้องการเรียนต่อระดับปริญญาโทต่อไป

       ในแง่ของการสะสมเงินเพื่อการศึกษาของลูกนั้น ดร.เมธีคิดว่า ควรเริ่มลงทุนตั้งแต่ลูกแรกเกิด จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่หากลงทุนในเงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนตราสารหนี้ ควรสะสมดอกเบี้ยไปเรื่อย เขาแนะนำให้ออมผ่านประกันชีวิต ที่มีรูปแบบการคืนเงินที่สอดคล้องกับช่วงการศึกษาของบุตร และเน้นความคุ้มครองที่สูงในช่วงที่ลูกยังเล็ก และรูปแบบการชำระเบี้ย ควรสอดคล้องกับช่วงอายุที่มีรายได้ของซิงเกิลมัม   ซึ่งในแง่ของการเลือกซื้อ ควรระบุผู้เอาประกันเป็นชื่อลูก  ผู้รับผลประโยชน์เป็นชื่อคุณแม่ เพื่อว่าในกรณีที่คุณแม่เสียชีวิต ลูกจะไม่ต้องส่งเบี้ยเพิ่มเติม และจะได้รับเงินคืนตามแบบกรมธรรม์ ไม่ใช่เงินก้อนครั้งเดียว 

 5.วางแผนภาษีสไตล์ซิงเกิลมัม
 ส่วนแผนภาษีของซิงเกิลมัมนั้นอุมาพันธ์บอกว่าต้องอย่าลืมใช้สิทธิลดหย่อนให้ครบถ้วน นั่นคือลดหย่อนบุตรได้ 15,000 บาทต่อราย ถ้าลูกเรียนก็ลดหย่อนได้ถึง 17,000 บาท หักได้สูงสุด 3 ราย ถ้าซิงเกิลมัมเป็นผู้ที่ดูแลคุณพ่อคุณแม่ ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ที่อายุเกิน 60 ปี ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนได้อีก  และในกรณีที่ซิงเกิลมัมมีฐานอัตราภาษีสูง แนะนำให้ลงทุนประหยัดภาษีผ่านกองทุนรวม RMF และ LTF เพื่อออมเงิน และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีลง

  เรื่องนี้จันทนามองว่า ในความเป็นจริงแล้วการวางแผนภาษีเป็นสิ่งที่ผู้มีรายได้ทุกคนควรให้ความใส่ใจ เพราะเป็นกลไกในการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้มีหน้าที่เสียภาษีทุกคน สำหรับ "ซิงเกิลมัม" แล้วคงมีความสำคัญเป็นทวีคูณเพราะเรามีภาระมากกว่าคนอื่น คนส่วนใหญ่มักจะกล่าวว่าการวางแผนภาษีคือการหาวิธีที่จะเลี่ยงภาษีอย่างไร ซึ่งเป็นคำพูดที่แสดงเจตนาในแง่ทุจริตเกินไปสักหน่อย แท้จริงแล้วการวางแผนภาษีคือการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจากกฎหมายอย่างเต็มสิทธินั่นเอง ในการนี้คือใช้สิทธิการหักค่าลดหย่อนทุกประเภทให้เต็มตามจำนวนที่กฎหมายอนุญาต เช่น ลดหย่อนเงินดอกเบี้ยจ่ายกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนเงินประกันชีวิตต่างๆ ลดหย่อนจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนเงินลงทุน ลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อการศึกษา เงินบริจาคเพื่อการกุศล ลดหย่อนบิดามารดา ลดหย่อนเงินกองทุนฯ LTF RMF สิทธิในการได้รับเครดิตเงินภาษีคืนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ ฯลฯซึ่งมีรายละเอียดและวิธีการที่แตกต่างกันไป สิทธิประโยชน์ที่ได้รับเหล่านี้สามารถเพิ่มเงินรายได้กลับมาให้ "ซิงเกิลมัม" เพิ่มขึ้นสูงได้ถึง 50-60% ของเงินภาษีที่จ่ายไปในแต่ละปีทีเดียว

 6.แผนเกษียณ..เรื่องจำเป็น
 เรื่องสำคัญของซิงเกิลมัมอีกอย่างหนึ่งคือการวางแผนเกษียณ อุมาพันธ์เน้นว่าต้องเริ่มให้เร็ว เพราะแผนเกษียณของคุณแม่ทั่วไป แม้ว่าอาจเริ่มเก็บเงินช้า แต่มีกำลังในการออมมากกว่า เก็บช้า ออมมาก ก็สามารถใช้ชีวิตเกษียณได้อย่างสบาย แต่สำหรับซิงเกิลมัม ที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่า   เงินที่สามารถแบ่งมาออมให้กับแผนเกษียณ ย่อมน้อยกว่า เพราะเราหาคนเดียว ถ้าอยากมีชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบาย แผนเกษียณก็ต้องเร่งเริ่มออมให้เร็ว เพื่อมีระยะเวลาการลงทุนที่นานขึ้น  

   จันทนาให้ข้อคิดว่า "ซิงเกิลมัม" อย่าหวังว่าเมื่อเกษียณจะพึ่งพาลูก  ต้องยอมรับว่าด้วยสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตการดูแลตัวเองอาจเป็นเรื่องที่จำเป็นตามสภาพเศรษฐกิจ ลูกอาจมีความจำเป็นที่ต้องเลี้ยงดูตัวเองให้รอดก่อน อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่า "ซิงเกิลมัม" ที่ดูแลตัวเองมาตั้งแต่เริ่มแรกและผ่านมาด้วยดีคงไม่มีปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตหลังเกษียณแน่นอน

 "เราต้องวางแผนเกษียณอาจจะตั้งแต่เริ่มทำงานกันเลยทีเดียวโดยเฉพาะ "ซิงเกิลมัม" คือการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายประจำเดือนเพื่อการลงทุนระยะยาว โดยไม่ควรเป็นการลงทุนที่สามารถนำเงินมาใช้ในระยะสั้น  ซึ่งในปัจจุบันมีหลายรูปแบบให้ลงทุน  เงินส่วนนี้จึงควรมองหาการลงทุนที่มีเงื่อนไขให้ไถ่ถอนยากๆ และค่อนข้างมีข้อผูกพัน เช่น กองทุน RMF  กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าหากมีเงินก้อนใหญ่ "ซิงเกิลมัม" อาจซื้อทรัพย์สินเป็นที่ดินไปเลยก็ได้  นอกจากนี้ก็มีเรื่องการออมทรัพย์แบบประกันชีวิตซึ่งอาจจะได้เรื่องการดูแลค่าใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุพ่วงมาด้วยเป็นข้อดี และยังเพิ่มประโยชน์เรื่องการลดหย่อนภาษีเข้ามาด้วยเป็นประโยชน์ในปัจจุบันอีกประการหนึ่ง "ซิงเกิลมัม" อาจสามารถลงทุนในทรัพย์สินที่มีค่าอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มค่าในอนาคตได้โดยอาจไม่ใช่ตราสารทางการเงินก็ได้ เช่น เพชร หรือทองคำ เป็นต้น"

 จารุลักษณ์มองว่า ซิงเกิลมัมควรจัดสรรเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณอายุการทำงาน โดยในส่วนนี้ แนะนำว่าควรคำนึงถึงความมั่งคั่งในอนาคตเป็นหลัก ดังนั้น ลักษณะพอร์ตการลงทุนจึงควรเป็นลักษณะยาว ซึ่งต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีควบคู่ไปด้วย โดยขอแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นและสามารถนำเงินลงทุนมา Reinvestment ต่อไป ได้แก่ การเลือกลงทุนในหุ้น, ทองคำ, น้ำมัน รวมทั้ง กองทุนLTF และกองทุน RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยควรพิจารณาเลือกนโยบายลงทุนให้เหมาะสมกับตนเอง  

 ดร.เมธีมองว่า แผนเกษียณของซิงเกิลมัมนั้น ควรกำหนดเป้าหมายอายุที่จะเกษียณ และประเมินค่าใช้จ่ายล่วงหน้า เช่น อายุครบ 55 ในปี 2580 ต้องการมีเงิน 5 ล้านบาท และต้องการมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท เป็นต้น เขาแนะนำ ให้ออมผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษี อย่างน้อย 5 - 15% ของรายได้ เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุน RMF และแบบประกันชีวิตเพื่อการเกษียณและควรมุ่งเน้นรายได้ที่สม่ำเสมอหลังเกษียณ ผ่านการลงทุนในประกันชีวิตแบบบำนาญ และควรเลือกซื้อแบบประกันที่เริ่มคืนเงินก่อน เผื่อว่าวันข้างหน้าจะเกษียณก่อนกำหนด เบี้ยประกันจะได้ไม่เป็นภาระ
 7.ข้อดี-ข้อเสีย
 เหนืออื่นใด การเป็นซิงเกิลมัมก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย  ในมุมมองของอุมาพันธ์นั้น ข้อดี คือ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ได้เต็มๆ ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยกู้ยืมบ้าน หรือค่าลดหย่อนในการเลี้ยงดูบุตร 
ไม่ต้องไปแบ่งสิทธิลดหย่อนกับใคร  ข้อเสียคือ ไม่มีคนช่วยแชร์รายจ่าย ในขณะที่รายรับมีทางเดียวคือ รายได้ของเรา  ซิงเกิลมัมก็ต้องเหนื่อยกว่าครอบครัวอื่น เพราะรายรับน้อยกว่า ต้องวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ถ้าไม่สามารถตัดค่าใช้จ่ายให้ลดลงได้ก็ต้องมองหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ อาจเป็นงานฝีมือ หรือการทำขนม ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัว  

      เรื่องนี้ จารุลักษณ์เห็นว่า  ข้อดีของการเป็นซิงเกิลมัมในการวางแผนทางการเงิน คือ จะทำให้เราบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการวางแผนทางการเงินได้ดี เนื่องจากผู้ที่เป็นซิงเกิลมัมจะมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารจัดการ จัดสรรเงินออม และ จัดสรรค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งหากมีการใช้ชีวิตคู่อาจมีค่าใช้อื่นๆ เพิ่มตามมา เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น หรือคู่ชีวิตมีมุมมองการวางแผนการเงินที่ต่างกัน ดังนั้น เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการวางแผนทางการเงินอาจยืดหยุ่นและไม่บรรลุเป้าหมายทางการเงินตามที่วางไว้ แต่ข้อเสียคือ ผู้ที่เป็นซิงเกิลมัมต้องมีภาระมากขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตคู่ปกติ โดยเฉพาะในเรื่องการหารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว 
 
นี่คือ 7 เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ทุกคนต้องเรียนรู้เอาไว้ เพราะแม้วันนี้คุณอาจจะยังมีชีวิตคู่ที่ราบรื่น แต่ในอนาคตใครจะรู้ว่าคุณอาจจะกลายเป็นซิงเกิลมัมโดยบังเอิญก็ได้

    Choose :
  • OR
  • To comment