วางแผนเกษียณ ต้องทำอย่างไร

 

หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการเกษียณ และต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข ไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง คุณต้องมีการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจึงจะสามารถเกษียณอย่างสบายใจไร้กังวลได้ การวางแผนเกษียณมีสิ่งที่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้ 


วางแผนเกษียณ
          1. ปัจจุบันคุณมีเงินสะสมอยู่จำนวนเท่าไร เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่วันนี้ถึงวันสิ้นอายุขัยหรือไม่ ซึ่งอายุขัยของแต่ละคนคงไม่สามารถมีใครกำหนดได้ แต่สามารถคาดเดาจากอายุขัยของคนไทยเทียบเคียงกับบรรพบุรุษของเรา หากบรรพบุรุษของเรามีอายุยืนประมาณ 90 ปี ก็คาดเดาว่าเราน่าจะมีอายุยืนเทียบเคียงกันหรือมากกว่า ดังนั้น ต้องพิจารณาเงินที่เราสะสมอยู่ในปัจจุบันว่ามีเท่าไร เพียงพอหรือไม่ โดยต้องไม่ลืมว่าค่าของเงินลดลงเนื่องจากเงินเฟ้อด้วย (ประมาณการเงินเฟ้อ 3% ต่อปี) ยกตัวอย่างเช่น อายุ 50 ปี ต้องการ Early Retire ตอนนี้ และคาดว่าจะมีอายุถึง 90 ปี โดยต้องการใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท เช่นนั้นแล้วต้องเตรียมเงินสูงถึง 26 ล้านบาทเลยทีเดียว 

          2. สำรวจกระเป๋าตัวเองว่าปัจจุบันมีอยู่แล้วเท่าไร บางท่านมีการเก็บออมเงิน และการลงทุนมาบ้างแล้ว โดยที่ไม่รู้ตัว เช่น ออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนประกันสังคม จะเห็นว่าเรามีเงินสะสมอยู่ก้อนหนึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว รวมกับเงินออมในรูปแบบอื่นๆ ที่มี สมมติว่ารวมเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท เท่ากับยังคงขาดอยู่จำนวน 16 ล้านบาท จากนั้นต้องพิจารณาดูว่ามีระยะเวลาในการทำงานคงเหลือเท่าไร หรืออีกกี่ปีที่เราจะหยุดทำงานนั่นเอง หากมีระยะเวลาในการทำงานคงเหลือน้อย เราต้องเร่งสะสมเงินให้มากด้วยการลงทุน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย หากคุณมีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง ก็มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูง นั่นก็หมายถึงคุณสามารถใช้เงินลงทุนน้อยกว่าผู้ที่มีความสามารถรับความเสี่ยงได้ต่ำนั่นเอง แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันเสมอไปว่าคุณรับความเสี่ยงได้สูงแล้ว จะได้รับผลตอบแทนที่สูงตามมาด้วย เนื่องจากการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง อาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง 

          3. พิจารณาด้านสุขภาพ เพราะนอกจากต้องมีสุขภาพด้านการเงินที่ดีแล้ว สุขภาพกายก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่มีใครอยากเกษียณโดยที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามที่ต้องการ ดังนั้นควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จึงสามารถบรรลุเป้าหมายได้ หากคุณเป็นผู้ที่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง เจ็บป่วยง่าย ต้องเตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายสุขภาพเพิ่มในอนาคตด้วย หรืออาจพิจารณาในเรื่องประกันสุขภาพเพิ่มเติม 

          4. พิจารณาสารพัดภาระ ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้การผ่อนบ้าน ภาระการส่งลูกเรียนหนังสือ รวมถึงภาระเบี้ยประกัน ว่าคุณเคลียร์ภาระหนี้สินทั้งหมดแล้วหรือยัง สามารถปลดภาระหนี้ทั้งหมดได้ก่อนเกษียณหรือไม่ หรือมีการกันเงินบางส่วนไว้สำหรับภาระต่างๆ ครบหรือยัง ทางที่ดีควรมีการจัดการสารพัดหนี้ที่มีให้หมดก่อนการเกษียณ จึงจะใช้ชีวิต “เกษียณอย่างเกษม” ได้ 

    Choose :
  • OR
  • To comment