ใช้ชีวิตอย่างเกษม: บำเหน็จจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 



สำหรับพนักงานบริษัท ผู้มีรายได้หลักจากเงินเดือน ท่านเป็นผู้ที่โชคดีมาก เพราะท่านเป็นผู้ที่มีโอกาสออมทั้งภาคบังคับ และภาคสมัครใจค่ะ สำหรับบทความนี้ แนะนำการออมภาคสมัครใจกึ่งๆ บังคับ เพราะบางบริษัทบังคับให้ลูกจ้างทุกคนต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่เรารู้จักกันในนาม Provident Fund (PVD) หากเป็นเช่นนั้น ขอให้ขอบคุณนายจ้างที่จัดสวัสดิการดีๆ เช่นนี้ให้กับเราเหล่าลูกจ้างนะคะ เพราะการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างนานๆ เป็นการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อประโยชน์ในยามชราของลูกจ้าง และเป็นหลักประกันของครอบครัว เมื่อลูกจ้างลาออก เกษียณ หรือเสียชีวิตค่ะ กองทุนดังกล่าวมีประโยชน์สำหรับลูกจ้างอย่างเรามากจนเราคิดไม่ถึงเชียวค่ะ


     เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็น กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม" และนายจ้างจ่ายเงินอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" นั่นคือ นอกจากลูกจ้างจะออมแล้ว นายจ้างยังช่วยลูกจ้างออมอีกแรงหนึ่งด้วย และนายจ้างจะจ่ายสมทบในจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าที่ลูกจ้างจ่ายสะสมเสมอ (จำนวนเงินสะสมอยู่ระหว่าง 2 – 15%) ของเงินเดือน ทั้งนี้หากนายจ้างให้เราเลือกออมได้ แนะนำให้เลือกจำนวนการออมให้มากที่สุด เช่น บริษัทนายจ้างให้เลือกออมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ระหว่าง 2-5% แนะนำให้เราออมสูงสุดในอัตราที่ออมได้ คือ 5% ค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นเงินเก็บของตัวเองเพื่ออนาคตแล้ว นายจ้างยังต้องช่วยออมไม่น้อยกว่าที่เราออมด้วย ในกรณีนี้เสมือนได้รับเงินเดือนเพิ่มอีก 5% ค่ะ

     ยกตัวอย่าง นายสมชายคนเดิมผู้โชคดีค่ะ มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท เมื่อสมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้หักเงินจำนวน 5% ของรายได้ เท่ากับนายสมชายจะถูกหักเงินเข้ากองทุนจำนวนเดือนละ 1,000 บาท ในขณะเดียวกันนายจ้างก็ต้องใส่เงินสมทบให้ในจำนวนไม่น้อยกว่า นั่นก็คือ ไม่น้อยกว่า 1,000 บาท เข้าเป็นเงินสมทบด้วยค่ะ เท่ากับว่าทั้งปี (12 เดือน) นายสมชายมีเงินสะสมเข้ากองทุนจำนวน 1,000 x 12 = 12,000 บาท และนายจ้างต้องใส่เงินสมทบทุกเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,000 บาท รวม 12 เดือน เท่ากับ 12,000 บาท เช่นกันค่ะ เงินสะสมที่ลูกจ้างถูกหักเข้าในกองทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วยนะคะ หากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เราเป็นสมาชิกบริหารเงินของเราได้ดี ก็จะมีผลตอบแทน แสดงให้เราเห็นในรูปของผลประโยชน์เงินสะสมอีกด้วยค่ะ เท่ากับว่าเงินที่อยู่ในกองทุนส่วนของลูกจ้างมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสะสม ในส่วนของนายจ้างก็เช่นเดียวกันค่ะ มี 2 ส่วน คือ เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินสมทบ ซึ่งทางนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะส่งเอกสารแจ้งยอดเงินให้เราทราบทุกๆ 6 เดือนค่ะ และเมื่อครบปีเราสามารถนำเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขดังนี้ค่ะ

          1. เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ โดยหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างและไม่เกิน 490,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่เสียภาษี เท่ากับว่านายสมชายสามารถหักลดหย่อนได้จำนวน 10,000 บาท และอีก 2,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่เสียภาษีค่ะ

          2. ผลประโยชน์จากการลงทุนของกองทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษี

          3. เงินที่สมาชิกได้รับจากกองทุนเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส่วนที่เป็นเงินสะสมได้รับยกเว้นภาษี สำหรับเงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ (รวม 3 ส่วน) ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไขดังนี้ค่ะ

             3.1 กรณีลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ

               ก. หากสมาชิกมีระยะเวลาการทำงานน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีทั้งจำนวน

               ข. หากสมาชิกมีระยะเวลาการทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่น โดยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ 7,000 บาทคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดหักได้อีกครึ่งหนึ่ง แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีทั่วไป ทั้งนี้ จำนวนวันทำงานตั้งแต่ 183 วันขึ้นไป นับเป็น 1 ปี น้อยกว่า 183 ให้ปัดทิ้ง

             3.2 กรณีออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุ

               ก. หากเกษียณโดยมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เงินที่ได้รับจากกองทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

               ข. หากเกษียณโดยมีอายุไม่ถึง 55 ปี หรือเกษียณโดยมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนไม่ถึง 5 ปี ให้คำนวณภาษีเช่นเดียวกับข้อ 3.1


     สมมตินายสมชายทำงานที่บริษัทพอเพียง โดยบริษัทกำหนดเงื่อนไขให้ส่งเงินสะสมเข้ากองทุน 5% และบริษัทส่งเงินสมทบให้ในจำนวนเท่ากัน โดยมีเงื่อนไขว่าหากลูกจ้างทำงานมากกว่า 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี จะได้รับส่วนของนายจ้าง 50% หากลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะได้รับในส่วนของนายจ้าง 100%

     ⇒ ยกตัวอย่าง กรณีที่ 1 อายุงานน้อยกว่า 5 ปี

      นายสมชายอายุ 30 ปี ทำงานกับบริษัทพอเพียง จำนวน 2 ปี และลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวโดยลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมมตินายสมชายมีรายได้เท่ากันตลอดตั้งแต่เริ่มงานคือเดือนละ 20,000 บาท และหักเงินเข้ากองทุนจำนวน 5% รวม 2 ปี นายสมชายมีเงินสะสมเข้ากองทุนจำนวน (20,000 x 5% x 24 เดือน = 24,000 บาท) เช่นเดียวกับบริษัทต้องส่งเงินสมทบทุกเดือนเท่ากันรวมจำนวนเงินสมทบเท่ากับ 24,000 บาท สมมติมีผลประโยชน์ปีละ 1,000 บาท รวม 2 ปี เท่ากับ 2,000 บาท
เงินสะสม (1)ผลประโยชน์เงินสะสม (2)เงินสมทบ (3)ผลประโยชน์เงินสมทบ (4)
24,0002,00024,0002,000


     ในกรณีนี้ นายสมชายลาออกในปีที่ 2 จะได้รับเงินในส่วนของบริษัทเพียง 50% ดังนั้น จะได้รับเงินในส่วนที่ (3) รวมจำนวน 24,000 x 50% = 12,000 บาท และส่วนที่ (4) รวมจำนวน 1,000 x 50% = 500 บาท ดังตารางด้านล่างนี้
เงินสะสม (1)ผลประโยชน์เงินสะสม (2)เงินสมทบ (3)ผลประโยชน์เงินสมทบ (4)
24,0002,00012,0001,000


     เข้ากรณี 3.1 ก กรณีลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ และมีอายุงานไม่ถึง 5 ปี จะต้องนำเงินส่วนที่ (2), (3), (4) = 2,000 + 12,000 + 1,000 = 15,000 บาท มารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย

     ⇒ ยกตัวอย่าง กรณีที่ 2 อายุงานเท่ากับ 5 ปี

     นายสมชายอายุ 30 ปี ทำงานกับบริษัทพอเพียง จำนวน 5 ปี และลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวโดยลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมมตินายสมชายมีรายได้เท่ากันตลอดตั้งแต่เริ่มงานคือเดือนละ 20,000 บาท และหักเงินเข้ากองทุนจำนวน 5% รวม 5 ปี นายสมชายมีเงินสะสมเข้ากองทุนจำนวน (20,000 x 5% x 60 เดือน = 60,000 บาท) เช่นเดียวกับบริษัทต้องส่งเงินสมทบทุกเดือนเท่ากันรวมจำนวนเงินสมทบเท่ากับ 60,000 บาท สมมติมีผลประโยชน์ปีละ 1,000 บาท รวม 5 ปี เท่ากับ 5,000 บาท
เงินสะสม (1)ผลประโยชน์เงินสะสม (2)เงินสมทบ (3)ผลประโยชน์เงินสมทบ (4)
60,0005,00060,0005,000


     ในกรณีนี้ นายสมชายลาออกในปีที่ 5 จะได้รับเงินในส่วนของบริษัทเต็มจำนวน ดังนั้น จะได้รับเงินในส่วนที่ (3) รวมจำนวน 60,000 บาท และส่วนที่ (4) รวมจำนวน 5,000 บาท ดังตารางด้านล่างนี้
เงินสะสม (1)ผลประโยชน์เงินสะสม (2)เงินสมทบ (3)ผลประโยชน์เงินสมทบ (4)
60,0005,00060,0005,000


     เข้ากรณี 3.1 ข กรณีลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ และมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะต้องนำเงินส่วนที่ (2), (3), (4) = 5,000 + 60,000 + 5,000 = 70,000 บาท มารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย ทั้งนี้ นายสมชายมีอายุงาน 5 ปี สามารถแยกยื่นและหักค่าใช้จ่ายได้ปีละ 7,000 บาท ส่วนที่เหลือสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่งดังนี้
70,000 – 35,000 (7,000 x 5 ปี = 35,000 บาท) = 35,000 บาท
35,000 หักเป็นค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่งเท่ากับ 17,500 บาท (35,000 x 50% = 17,500 บาท)
คงเหลือเป็นเงินได้ เท่ากับ 35,000 – 17,500 = 17,500 บาท โดยยื่นเป็นใบแนบ
     ข้อสังเกตุ : ในกรณีที่ 1 และ 2 หากนายสมชายไม่ต้องการออกจากกองทุน สามารถทำได้โดยการโอนเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ของบริษัทที่เข้าไปทำใหม่ (สามารถ Hold ได้ โดยมีค่าธรรมเนียมประมาณปีละ 650 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่ะ)

     ⇒ ยกตัวอย่าง กรณีที่ 3 อายุงานเท่ากับ 5 ปี และอายุ 55 ปี

      ถ้านายสมชายทำงานไปจนถึงอายุ 55 ปี และลาออกจากกองทุน เงินในส่วนที่ (2), (3), (4) ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีแต่อย่างใด ได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน เข้ากรณี 3.2 ก

      จะเห็นว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมาะเป็นกองทุนเพื่อการเกษียณ เราไม่เพียงแต่ได้รับเฉพาะเงินส่วนที่ลูกจ้างสะสมบวกกับผลประโยชน์เงินสะสมเท่านั้น แต่ยังได้เงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบในส่วนของนายจ้างอีกด้วย ได้เงินตัวเองและเงินของนายจ้าง รวมถึงสามารถนำเงินสะสมที่ตัวเองสะสมทุกปีไปลดหย่อนภาษีได้อีก เห็นไหมคะข้อดีของการเป็นลูกจ้าง และต้องขอบคุณสวัสดิการดีๆ ที่นายจ้างมีให้ด้วยค่ะ


ที่มา :  ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย โดย อรพรรณ บัวประชุม 

    Choose :
  • OR
  • To comment