เทคนิคการบริหารหนี้ หลีกหนีกับดักทางการเงิน

 

“ชีวิตที่ปลอดหนี้” เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง การประคับประคองตัวไม่ให้เป็นหนี้ในยุคนี้    แสนจะลำบากยากเย็น เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหนล้วนเจอแต่หนทางสร้างหนี้แบบง่ายๆ ได้รอบด้านทั้งตีนสะพานลอย  บนสถานีรถไฟฟ้า หน้าห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งทางสายโทรศัพท์ หลายคนจึงรู้จักและคุ้นเคยกับหนี้เป็นอย่างดี    เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พากันกู้ซื้อบ้าน ผ่อนรถ กดเงินสด กู้เงินด่วน หรือรูดบัตรเครดิตกันทั้งนั้น 


         หากจะว่ากันไป... “การเป็นหนี้” ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายหรือเป็นเรื่องเสียหายไปซะทั้งหมด และหนี้ก็ไม่ได้มีแต่่แง่มุมในด้านลบเท่านั้น หากแต่แง่บวกของหนี้ก็ยังมีเช่นกัน ถ้าเรารู้จักเป็นหนี้ให้ถูกวิธี หนี้ก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวยให้กับเราได้   


หนี้ในโลกนี้จึงมีทั้ง “หนี้ดี” และ “หนี้ไม่ดี” ซึ่งกุญแจสำคัญในการแยกหนี้ดีและหนี้ไม่ดี  ออกจากกัน ก็คือ “วัตถุประสงค์ของการก่อหนี้”  และ “ผลลัพธ์ที่เกิดจากการก่อหนี้”  ของบุคคลนั้น

            แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า... ภาระหนี้ ในปัจจุบันของเรานั้น เป็น “หนี้ดี” หรือ  “หนี้ไม่ดี” 
 คำตอบง่ายๆ หมั่นท่องจำไว้ว่า...

         สิ่งที่จะเรียกว่าเป็น “หนี้ดี” ได้นั้น จะต้องทำให้เรามั่งคั่งขึ้น กล่าวคือมีรายได้ หรือ ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ   ต้องไม่กระทบต่อสภาพคล่องในการดำรงชีวิตประจำวัน หากตกเรื่องความมั่งคั่ง หรือสภาพคล่องข้อใดข้อหนึ่งไป จะถือว่าหนี้นั้นเป็น “หนี้ไม่ดี” ทันท

         ตัวอย่างเช่น
         นายเอกกู้เงินซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย 1 หลัง แม้ว่านายเอกจะต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านเป็นประจำทุกเดือน แต่นายเอก ก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากการค่อยๆ สะสมความเป็นเจ้าของ (เงินต้นที่ไปหักหนี้ออกทุกเดือน) รวมไปถึงมูลค่าบ้านและ   ที่ดินที่สูงขึ้นตามเวลา อย่างนี้ถือว่าการซื้อบ้านสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับนายเอกได้
   คำถามต่อมาจึงอยู่ที่ว่า... จำนวนเงินผ่อนรายเดือนทำให้นายเอกมีปัญหาสภาพคล่องหรือเปล่า? ถ้าซื้อบ้านแล้วไม่มีปัญหาสภาพคล่อง ก็จะว่าถือว่าบ้านหลังนี้เป็นหนี้ดี แต่ถ้าส่งบ้านแล้วทำให้เงินไม่พอใช้ อย่างนี้ก็ถือเป็นหนี้ไม่ดี

         หรือหาก น.ส.บีม กู้เงินมาเรียนต่อปริญญาโท ด้วยเหตุที่ว่าการศึกษาต่อทำให้คนเรามีวิชาความรู้เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้ม   ที่จะทำให้มั่งคั่งได้ในอนาคต ดังนั้น การจะพิจารณาว่าการกู้ยืมเพื่อการศึกษาสร้างหนี้ดีหรือไม่ดี ก็ให้ดูที่ความสามารถ   ในการผ่อนชำระคืนเช่นกัน
   สุดท้ายเป็นตัวอย่างสุดคลาสสิค นั่นคือ การกู้เงินซื้อรถยนต์ หากพิจารณาจากเกณฑ์ความมั่งคั่งจะพบว่า... 
   การซื้อรถยนต์นั้น จัดเป็นหนี้ไม่ดีทันที เพราะภายหลังจากเราถอยรถออกจากโชว์รูมหรือเต้นท์ ไม่มีทางเลยที่มูลค่ารถยนต์ ของเราจะเพิ่มขึ้น มีแต่เสื่อมลงเรื่อยๆ   แต่สำหรับกรณีของรถยนต์นั้น อาจต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิด เพราะแม้ว่ามูลค่าของรถจะไม่มีทางเพิ่มขึ้น ต่หากการซื้อรถทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเราลดลง (ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระ ค่าน้ำมัน และค่าดูแลรักษา  น้อยกว่า ค่าเดินทางที่ต้องจ่ายอยู่เดิม) หรือหากการมีรถยนต์ทำให้เราสามารถรับงานพิเศษที่สร้างรายได้ให้มากขึ้นได้   เพียงพอที่จะจัดการกับค่าใช้จ่าย และทำให้มีเงินเหลือออมมากขึ้น อย่างนี้การซื้อรถยนต์ก็สามารถสร้างความมั่งคั่ง  ให้เราได้เช่นกัน 

         จะเห็นว่าแนวคิดเรื่อง “หนี้ดี” และ “หนี้ไม่ดี” ค่อนข้างต้องอาศัยการไตร่ตรองที่ลึกซึ้งมากกว่าที่จะใช้เกณฑ์ใดๆ  ตัดสินตายตัว เพราะท้ายที่สุดแล้ว... เชื่อว่าคงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับปัญหาทางการเงิน มีเพียงคำตอบที่  เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละบุคคลเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องสามารถพินิจพิเคราะห์โจทย์ปัญหาทางการเงินของเราได้เอง และแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ นั่นต่างหากคือหนทางที่จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยจากปัญหาทางการเงินได้

         ทางที่ดี... ถ้ายังไม่เป็นหนี้ ก็อย่าพยายามสร้างหนี้ แต่เมื่อหลวมตัวเป็นหนี้ไปแล้ว ก็พยายามควบคุมหนี้ทุกประเภท อย่าให้เกิน 50% ของรายได้ อย่าลืมว่าในแต่ละเดือนคุณยังต้องกินต้องใช้ หากสร้างหนี้กองพะเนินเอาไว้แล้ว คุณจะเอาเงินที่ไหนใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิต
         โดยสรุป “การมีหนี้” ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้คนเราไม่ร่ำรวย เพราะในโลกนี้มีทั้งหนี้ที่สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับสุขภาพทางการเงิน (หนี้ดี) และหนี้ที่ไม่สร้างสรรค์ แถมบั่นทอนสุขภาพทางการเงิน (หนี้ไม่ดี) ต่ปัญหาอยู่ที่ว่า... เราเลือกสร้างหนี้ประเภทไหนให้กับชีวิตของเราต่างหาก

         มาถึงตรงนี้... ลองสำรวจตัวเองดูสักนิดว่าตอนนี้คุณมีหนี้อยู่หรือไม่? “ถ้ามี” จัดเป็นหนี้ประเภทใดมากกว่ากัน ระหว่างหนี้ดีกับหนี้ไม่ดี ถ้าคำตอบ คือ ไม่มีหนี้หรือมีแต่หนี้ดี ก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วยและทำนายได้เลยว่า    คุณมีสิทธิที่จะมั่งคั่งได้ในอนาคต แต่ถ้าคุณมีหนี้และเป็นหนี้ไม่ดีด้วยละก็ บอกไว้เลยว่า “ความมั่งคั่ง” กับชีวิตของคุณยังคงเป็นเพียงเส้นขนาน

ที่มา tsi-thailand.org

ไปหน้าแรก  เทคนิคการลงทุน

    Choose :
  • OR
  • To comment