อายุเท่าไหร่ ควรใส่ใจ “วางแผนเกษียณ”

 

คนส่วนใหญ่มักคิดว่า “การวางแผนเกษียณ” เป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของคนที่เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ด้วยความคิดเช่นนี้ จึงไม่คิดวางแผนเกษียณแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ครั้งที่ยังมีเรี่ยวแรง สามารถหาเงินเพื่อมาออมหรือลงทุนได้ กว่าจะรู้สึกตัวอีกทีก็เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว หลายท่านมีเวลาไม่มากพอที่จะเก็บออมเงินสำหรับเกษียณ บางท่านรู้สึกตัวอีกทีก็เกษียณแล้ว โดยมีภาระหนี้สินติดตัวมากมาย ต้องนำเงินก้อนสุดท้ายที่ได้รับไปชำระหนี้จนหมด ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท และเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณในภายภาคหน้า จึงควรมีการวางแผนเกษียณ ทั้งนี้การวางแผนเกษียณไม่จำเป็นต้องเป็นแผนสุดท้ายที่ต้องวางแผน แต่ควรเป็นแผนทางการเงินแผนแรกๆ ที่ควรนึกถึง เนื่องจาก ท้ายที่สุด ทุกคนล้วนต้องเกษียณ ยิ่งวางแผนเร็ว ก็ยิ่งมีโอกาสเกษียณได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถรู้ปริมาณเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณและจัดการออมเงินหรือลงทุนสำหรับการเกษียณในอนาคตได้เร็วขึ้น 


วางแผนเกษียณ
     การวางแผนเกษียณ ควรวางแผนตั้งแต่เริ่มทำงานควบคู่กับแผนการเงินอื่นๆ ที่ต้องการ เช่น แผนการซื้อบ้าน รถยนต์ หรือ แผนการศึกษาบุตร เพียงแต่แผนเกษียณเป็นแผนระยะยาว หากท่านวางแผนเกษียณเมื่ออายุยังน้อย สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ โดยใช้ปริมาณเงินที่น้อยในการลงทุน และปรับเปลี่ยนไปตามช่วงอายุที่มากขึ้น รวมถึงปริมาณเงินที่ลงทุน แต่หากท่านวางแผนเกษียณเมื่อมีอายุมาก เหลือเวลาอีกไม่กี่ปีต้องเกษียณแล้ว ท่านอาจต้องใช้ปริมาณเงินที่มากในการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ อีกทั้งอาจต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมาก เพื่อให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่ผู้ที่วางแผนเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อถึงคราวที่อายุเริ่มมากขึ้น อาจมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนไปอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำลง เพื่อเป็นการรักษาเงินต้นไว้ พร้อมกับรับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอแทน 

     ดังเช่น นายขยันออม เริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยนำเงินออมจำนวนเดือนละ 10,000 บาท ไปลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี นายขยันออมได้ลงทุนรวม 1,200,000 บาท และปล่อยให้เงินทำงานในกองทุนต่อไป เมื่อนายขยันออมอายุ 55 ปี จากเงินต้นจำนวน 1,200,000 บาท กลับกลายเป็นเงินที่มีมูลค่าถึง 8,102,550 บาท ผิดกับ  นายคิดช้า กว่าจะรู้สึกตัวอีกทีก็อายุ 45 ปีแล้ว เหลือเวลาออมเงินอีกเพียง 10 ปี ก็อายุ 55 ปี จึงได้เร่งรีบออมเงินเดือนละ 30,000 บาท ในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยนายคิดช้าใช้เงินออมรวมทั้งหมด 3,600,000 บาท เมื่ออายุ 55 ปี นายคิดช้ามีเงินสำหรับการเกษียณจำนวน 5,215,162 บาท จะเห็นว่านายขยันออมใช้เงินต้นเพียง 1,200,000 บาท แต่ออมเงินเร็วกว่านายคิดช้า 20 ปี ทำให้จากเงินมูลค่า 1,200,000 บาท กลับกลายเป็น 8,102,550 บาท แต่นายคิดช้าใช้เงินต้นที่มากกว่า โดยใช้เงินต้นจำนวน 3,600,000 บาท แต่เมื่ออายุ 55 ปี กลับมีเงินเพียง 5,215,162 บาท เท่านั้น จะเห็นว่าออมก่อนรวยกว่า ยิ่งออมเงินตั้งแต่อายุน้อยๆ อานุภาพของผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้รับก็ยิ่งมาก 

     เช่นเดียวกันหากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ใส่ใจวางแผนเกษียณตั้งแต่อายุน้อยๆ ด้วยเงินต้นที่ไม่มากนัก ก็สามารถเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับใช้ยามเกษียณได้ แต่หากคุณวางแผนช้า หรือไม่วางแผนเลย เงินก้อนสุดท้ายที่คุณได้รับอาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้หนี้สินที่ก่อมาทั้งชีวิต หรือมีเงินคงเหลือไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณก็ได้ 

    Choose :
  • OR
  • To comment