ออมเงิน ออมเงิน ออมเงิน คาถาสำหรับคนที่อยากมีความมั่งคั่งและอิสรภาพทางการเงินควรท่องจำให้ขึ้นใจ การออมเงินก็คือการกันเงินส่วนหนึ่งของรายได้ออกมาก่อนที่จะนำไปแบ่งสรรปันส่วนเป็นรายจ่ายในแต่ละเดือน ที่ผู้เขียนบอกว่าควรเป็นเงินที่ กันออกมา เพื่อออมโดยเฉพาะนั้นเป็นเพราะว่ามีประสบการณ์ของตัวเองที่คิดว่าจะออมก็ต่อเมื่อมีเงินเหลือเก็บสุดท้ายเงินก็ไม่เคยเหลือตกถึงบัญชีออมเงินเลยสักครั้ง แถมเพื่อนใกล้ตัวหรือคนรู้จักก็เจอกับปัญหาเดียวกัน หลายคนถึงขั้นโทษโชคชะตาที่เกิดมาทำงานมีได้เพียงพอแค่การใช้จ่ายไปวัน ๆ คนที่ไม่มีเงินออมนี้ ถือว่าใช้ชีวิตอย่างประมาทมาก ๆ ครับ
เมื่อเห็นว่าวิธีการออมแบบเหลือแล้วค่อยเก็บของตัวเองไม่ได้ผล ก็เริ่มที่จะใช้วิธีใหม่ คือ การตัดออมก่อนเอาเงินไปทำอย่างอื่น แต่ทำแบบนี้แล้วก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหานะครับ เพราะพอเปิดบัญชีเงินออมไว้หนึ่งบัญชี หักเก็บเป็นกอบเป็นกำเรียบร้อยแล้ว จิตใจก็เริ่มมีมาร (ความอยาก) มาผจญ เหตุก็คงเกิดจากการที่ตึงเกินไปตามภาษาพระท่านว่า การที่เอะอะอะไรก็ออมแล้วก็ออมเยอะจนเรียกว่า งก หรือเขียมสุดชีวิต เอวกิ่วแทบไม่มีช่องลมก็ทำให้ตบะแตกเอาได้ง่าย ๆ ตอนนั้นคิดว่าหาเงินมามายมายเพื่ออะไร เพื่อใคร ทำไมเงินที่หามาเราไม่ได้ใช้ ต้องเก็บก่อนทุกครั้ง จึงสนองความอยากด้วยการใช้เงินก้อนนั้นหมดไป แล้วก็มานั่งละเหี่ยใจ ไม่รู้จะสมน้ำหน้าหรือสงสารตัวเองดี
เอาใหม่ ๆ คนเรามันต้องมีการลองผิดลองถูกกันบ้าง คราวนี้เงินถูกแบ่งออกเป็นหลายบัญชีแล้วค่ะ แบ่งเป็นบัญชีท่องเที่ยว บัญชีเพื่อการลงทุน (ซื้อทรัพย์สิน) บัญชีเงินเก็บส่วนตัว และบัญชีงบฉุกเฉิน การแยกแต่ละบัญชีแบบนี้จะทำให้เงินออมไม่ปนกันมั่วซั่ว และเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจนำเงินออมออกมาใช้ด้วยครับ
จากบทที่แล้วจะเห็นตัวอย่างของการจัดสรรเงินของผู้เขียนแล้วว่าแบ่งออกเป็น เงินเก็บเข้าธนาคาร 10% เงินออมเพื่อการลงทุน 10% และเงินเพื่อการชอปปิ้ง 15% รวมแล้วเงินส่วนนี้ ส่วนอีก 65% ที่เหลือนั้นถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้แน่ ๆ เพราะฉะนั้น หากต้องออมแยกเป็นบัญชีต่าง ๆ ตามด้านบนแล้ว จำเป็นต้องจัดสรร 35% ที่มีอยู่นี้ใหม่
20% แรกถือเป็นเงินที่ต้องเก็บเข้าบัญชีงบฉุกเฉินและบัญชีเพื่อซื้อทรัพย์สิน (ลงทุน)
15% ที่เป็นเงินชอปปิ้งนั้นแบ่งเสียใหม่เป็น 10% เป็นบัญชีเงินเก็บส่วนตัว และอีก 5% เพื่อเป็นงบในการเดินทางท่องเที่ยว
เดี๋ยวจะแจกแจงให้เข้าใจว่า เงินแต่ละบัญชีจะถูกเอาออกมาใช้เมื่อไรอย่างไร
บัญชีงบฉุกเฉิน
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเงินฉุกเฉิน เงินก้อนนี้จะถูกเอาออกมาใช้ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติ หรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันว่าจะเสียเงิน เช่น รถเสียกะทันหัน ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแบบไม่คาดฝัน ต้องซ่อมแซมบ้านจากภัยพิบัติน้ำท่วม ฯลฯ แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร คนส่วนใหญ่มักลืมที่จะคิดถึงเงินออมก้อนนี้ไป พอต้องใช้เงินฉุกเฉินเมื่อไรจึงจำเป็นต้องวิ่งกันให้ควั่กเลยทีเดียว เลิกซะเถอะ นิสัยการใช้เงินไปวัน ๆ หาเงินมาได้เท่าไรก็ปรนเปรอความสุขของตัวเองไปวัน ๆ เพราะหากเมื่อไรเกิดเรื่องขึ้น จะมาคิดออมก็ไม่ทันทั้งตัวเสียแล้ว
การออมเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินนั้นควรทำเป็นประจำทุกเดือน เมื่อไรที่คุณเริ่มมีรายได้ที่มั่นคง ก็ควรเริ่มหักเงินรายได้เข้ามาเป็นเงินออมฉุกเฉินวะ อย่างน้อยคนหนึ่งคนควรมีเงินเก็บฉุกเฉิน 10 ของรายได้ทุกเดือนหรือ 3 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อที่จะเพียงพอใช้จ่าย 3 เดือนหรือสะสมต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อความอุ่นใจมากขึ้น กลายเป็น 6 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปีก็ไม่มีใครว่า เพราะเงินฉุกเฉินถ้าไม่ได้ใช้ก็ยังเอามาลงทุนได้ก็ไม่แน่นะคะ โดยเฉพาะคนที่ทำงานเป็นพนักงานบริษัท วันหนึ่งวันใดที่ถูกบอกเลิกจ้างกะทันหัน เงินเก็บฉุกเฉิน 3 เดือนที่คุณมีอยู่แล้วบวกกับเงินชดเชยที่จะได้รับจากกองทุนประกันสังคมตามระยะเวลาการทำงาน อย่างน้อยก็ทำให้คุณมีเงินกิน มีเงินใช้ และมีเวลาพอที่จะหางานใหม่ได้ทัน เพราะมีผลการวิจัยยืนยันออกมาแล้วด้วยว่า การที่แนะนำให้เก็บเงินฉุกเฉินไว้ 3 เดือนนั้นเนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะหางานใหม่ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือนนั่นเอง
เงินฉุกเฉินควรเก็บแบบเข้าถึงเงินได้ง่าย คือ ฝากบัญชีออมทรัพย์ไม่ควรฝากบัญชีฝากประจำ เพราะคุณอาจเสียดอกเบี้ยที่ควรจะได้หากต้องถอนมาใช้ก่อนครบงวด แต่ก็อย่าลืมนะคะว่า การถอนออกมาใช้ได้ง่าย ๆ นี่ก็ท้าทายวินัยของเราไม่ใช่น้อย หากอยากมีเงินไว้ใช้ยามจำเป็นแล้วละก็ คงต้องควบคุมตัวเองสุดฤทธิ์ไม่ให้ใจอ่อนเผลอเบิกเงินก้อนนั้นออกมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่ควรเอาไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์จริง ๆ เท่านั้น และหลังจากเอาเงินไปใช้แล้วก็ควรจะนำเงินกลับมาเติมเพื่อให้เท่าจำนวนเงินที่ถอนเอาออกไปใช้ด้วย
บัญชีเพื่อลงทุน (ซื้อทรัพย์สิน)
เงินที่ออมเข้าบัญชีส่วนนี้ 10% จะเก็บไว้เพื่อให้เงินทำงานแทนเรา คนที่จะร่ำรวยได้ไม่ใช่สักแต่ว่าเก็บเงินเก่ง ออมเงินเก่ง แต่การเก็บเงินนั้นต้องทำให้เงินงอกเงยขึ้นมาด้วยการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อพันธบัตร กองทุน เล่นหุ้น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อคอนโด ซื้อทอง หรือบาคนอาจจะวางแผนนำเงินเก็บก้อนนี้ไปลงทุนเพื่อเก็บไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตก็ว่าไปกันครับ แต่การใช้เงินก้อนนี้มีข้อควรระวังคือ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในอะไรก็ตาม ควรมีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพราะการลงทุนย่อมีความเสี่ยงเป็นธรรมดา เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อยขึ้นอยู่กับการยอมรับของแต่ละคน จะเอาบรรทัดฐานของใครมาเป็นเกณฑ์คงไม่ได้ การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงก็ย่อมเสี่ยงมากเป็นธรรมดา
อยากจะพูดถึงเรื่องความเสี่ยงอีกสักนิดหนึ่ง เพราะสถานการณ์เสี่ยงกับการลงทุนแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เช่น การเล่นหุ้น ซื้อกองทุน อาจจะเป็นการเสี่ยงต่อการขาดทุน และสูญเงินก้อนไปเท่านั้น แต่การลงทุนซื้อรถซื้อบ้าน หรือซื้อคอนโดอาจจะเสี่ยงกับการขาดทุนและหนี้สินด้วย ถ้าหากเราไม่มีเงินฝากในแต่ละเดือน แต่เราจะมีวีการบริหารความเสี่ยงและเปลี่ยนหนี้สินเหล่านั้นให้เป็นทรัพย์สินได้อย่างไร ตรงนี้สำคัญมาก ๆ
เพราะทรัพย์สินบางอย่าง เช่น บ้าน คอนโด หรือรถ เป็นทรัพย์สินที่มีโอกาสเป็นหนี้สิน เพราะเป็นทรัพย์สินที่ต้องมีการดูแลรักษา และมีการเสื่อมสภาพตามการใช้งานและตามเวลา ทำให้เราจำเป็นต้องหาเงินสำรองเอาไว้เผื่อดูแลและซ่อมแซมด้วย ที่สำคัญซื้อมาแล้วต้องใช้อย่างคุ้มค่า สร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะฉะนั้น ก่อนตัดสินใจนำเงินจากบัญชีเพื่อการลงทุนออกไปใช้ต้องหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากพอสมควร
บัญชีเงินเก็บส่วนตัว
บัญชีนี้จะถูกจัดเก็บเอาไว้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัวทั่ว ๆ ไป เช่น ค่าเสื้อผ้า เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ หรือแม้แต่จะซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น โทรศัพท์มือถือ ก็ยังสามารถเก็บหอมรอมริบเงินจากส่วนนี้เอาไปใช้สอยได้ เพราะเงินส่วนนี้มีไว้ให้ใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่อย่าใช้เพลินจนเกินงบในแต่ละเดือนนะครับ
บัญชีท่องเที่ยว
จริง ๆ แล้วบัญชีนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ด้วยความที่ผู้เขียนหลงใหลทะเลเป็นชีวิตจิตใจ ถึงขั้นปฏิญาณตัวกันเลยทีเดียวว่า หนึ่งปีจะต้องไปริมชายหาดให้ได้อย่างน้อย 1 ครั้ง และก็ทำเช่นนั้นจริง ๆ แต่ปีแรก ๆ ยอมกับกันอย่างไม่อายเลยว่า เป็นการไปแบบวางแผนไปเพื่อกินเพื่อเที่ยวและไม่ได้คิดว่าจะใช้จ่ายอะไรมาก เลยเอาเงินที่แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนไปใช้ แต่พอไปถึงแล้วอดใจไม่อยู่ ใช้เงินกินเที่ยวกระจาย เติมความสุขแบบไม่อั้นหลังจากทำงานเหนื่อย ในที่สุดเมื่อถึงเวลากลับ เงินในกระเป๋ากลับช็อตซะงั้น ดีนะมีเงินฉุกเฉินสำรองเก็บไว้เลยหยิบยืมเงินตัวเองก่อนแล้วผ่อนคืนทีหลัง
ด้วยเหตุนี้เลยต้องกันงบสำหรับการท่องเที่ยวออกมาไว้อย่างจริงจังและงบนี้ยังมีเอาไว้เพื่อใช้สำหรับเดินทางไปต่างจังหวัดและเสียภาษสังคม เช่น เพื่อแต่งงาน หลานบวช นัดเลี้ยงรุ่น ฯลฯ จะได้ไม่ลำบากใจไม่ไปกวนเงินเก็บส่วนอื่น ๆ หรือถ้าอาจจะต้องใช้เงินเพิ่มเติมบ้างเมื่อถึงคราวไปจริง ๆ ก็ดีกว่าไม่มีเลยนะครับ
นี่ล่ะครับ บัญชีการออมเงินแบบละเอียดยิบ ถึงแม้ว่าจะค่อนข้างยุ่งยากในเรื่องของการจัดการกับบัญชีเงินฝากหลาย บัญชีและดูเหมือนว่าจำนวนเงินในแต่ละบัญชีนั้นค่อนข้างน้อยนิด แต่ก็เป็นตัวเลขที่เราสามารถใช้จ่ายได้จริงและช่วยป้องกันไม่ให้เราใช้เงินเพลินจนลืมเก็บ เดือนไหนใช้ไม่หมดก็เอามาทบเป็นกำไรเก็บไว้ใช้เดือนต่อไปได้