นักเศรษฐศาสตร์มองทิศทางดอกเบี้ยปี 56 ยังไม่เข้าสู่ขาขึ้น-เงินบาทแข็งค่าอีก

 


การลงทุน: นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักมองทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนในปี 56 ดอกเบี้ยนโยบายยังน่าจะทรง ๆ หรือหากจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะเห็นในช่วงครึ่งแรกของปี เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เนื่องจากยังมีปัจจัยจากต่างประเทศเรื่องความเสี่ยงของเงินทุนเคลื่อนย้าย ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะปรับลดลงเพื่อลดแรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้า โดยคาดว่าสิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ในช่วง 2.50-2.75%

อัตราแลกเปลี่ยน
         
     ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนมองเงินบาทจะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นจากปีที่ผ่านมา จากภาวะเงินทุนไหลเข้า คาดกรอบการเคลื่อนไหวจะอยู่ในช่วง 28-30 บาท/ดอลลาร์

*SCB EIC มองโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายกลางปีเหตุศก.โลกมีอุปสรรคการฟื้นตัว
         
     นายพชรพจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสปรับลดลงซึ่งอาจเป็นช่วงกลางปีนี้ จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.75% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว          
     ทั้งนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีอุปสรรคในการฟื้นตัว และการใช้จ่ายในประเทศยังขาดแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ ดังนั้น ช่วงครึ่งแรกของปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงน่าจะปรับลดลงเพื่อช่วยพยุงการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน โดยคาดว่าน่าจะมีโอกาสได้เห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ช่วงกลางปี         
     ส่วนปัจจัยจากต่างประเทศที่จะเป็นเหตุให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงในช่วงครึ่งปีแรกมาจากความเสี่ยงของเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(Fed)ประกาศใช้มาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวต่อไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.55 ที่ผ่านมา ทำให้เมื่อรวมกับมาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน(MBS)ก่อนหน้านี้ จะมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นในตลาดเงินประมาณ 85 พันล้านดอลลาร์/เดือนในปี 56 มากกว่าเม็ดเงินของ QE2 นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินเพิ่มเติมจากธนาคารกลางของญี่ปุ่น(BOJ) ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะปรับลดลงเพื่อลดแรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้าบนค่าเงินบาท         
     "ช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว หลักๆ คือสหรัฐฯ จากปัญหา Fiscal Cliff แม้จะเกิดน้อยแต่ก็เกิดอยู่ดี ส่วนยุโรปยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดี ขณะที่ภายในประเทศนั้น มาตรการที่เคยทำให้ demand ในประเทศสูงๆ เช่น รถคันแรกก็หมดไปแล้ว เรามองว่าถ้าจะรักษาระดับการใช้จ่ายให้โตเท่าๆ ปีที่แล้ว อาจจะต้องมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก" นายพชรพจน์ กล่าว          
     ขณะที่คาดว่า ณ สิ้นปี 56 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 2.25%         
     สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศในปีนี้ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจนเป็นนัยสำคัญที่จะทำให้ กนง.ต้องนำมาเป็นปัจจัยประกอบในการพิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบายสำหรับปี 56 เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบแรกตั้งแต่เม.ย.55 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อพื้นฐานให้ขยับเพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถกำกับดูแลให้เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ได้          
     "เราไม่มองว่ามีผลมาก เพราะเงินเฟ้อที่เกิดจากค่าแรงจะเป็นเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปกติเงินเฟ้อพื้นฐานของเราจะคุมได้ค่อนข้างดี ดูจากปีก่อนที่ขึ้นค่าแรงรอบแรก เงินเฟ้อพื้นฐานก็แทบจะไม่ขึ้นเลย เราเชื่อว่าครั้งนี้ การส่งผ่านของการขึ้นค่าแรงมายังเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังมีน้อยอยู่" นายพชรพจน์ กล่าว

*ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองต่างคาดกนง.คงดอกเบี้ยทั้งปี
         
     ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงินการธนาคาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด(KR) ประเมินว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 56 จะอยู่ในระดับทรงตัวจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 2.75% เพราะมีสัญญาณให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าปี 55 แม้การแก้ปัญหาของหลายประเทศจะยังไม่จบก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป         
     ทั้งนี้ หากจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจริงก็น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่อย่างไรก็ดี ยังมองในภาพรวมว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้น่าจะผ่านไปด้วยดี รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่เริ่มจะดีขึ้นซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจในอาเซียนให้ดีขึ้นตาม ขณะที่เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปคงยังทรงตัวและรอการจัดการปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยยังน่าจะประคองสถานการณ์ไว้ต่อไปได้ ดังนั้นจากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะมีน้อยหรืออาจไม่มี         
     "ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจอาจไม่แย่มาก แบงก์ชาติยังคงดูแลเศรษฐกิจอยู่ แต่ว่าน้ำหนักอาจไม่รุนแรงมาก เพราะฉะนั้นการปรับลดดอกเบี้ยจะมีโอกาสถ้าสถานการณ์โลกไม่ดี แต่ตอนนี้คงเป็นไปได้น้อย คิดว่าดอกเบี้ยน่าจะนิ่ง ปลายปีคงอยู่ใกล้ๆ 2.75% ถ้าลดก็อาจลดได้ครั้งหนึ่ง" น.ส.เกวลิน ระบุ          พร้อมมองว่า ณ สิ้นปี 56 อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ในระดับ 2.50-2.75%         
     ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 56 จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปีนี้ให้สูงขึ้นจนมีนัยสำคัญจนต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น น.ส.เกวลิน กล่าวว่า ปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)พิจารณามีหลายส่วน ซึ่งค่าแรงที่ปรับขึ้นจะมีผลกระทบต้นทุนสินค้าและดันเงินเฟ้อฝั่งอุปทาน(supply side) ซึ่งถ้ารวมราคาพลังงานหรือต้นทุนที่สะสมมาตั้งแต่ปีก่อน ยอมรับว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทาน(Demand side)คงขยับขึ้น แต่ปัจจัยที่จะดึงให้กนง.ให้น้ำหนักและปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นต้องเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ เพราะจุดนี้จะผูกโยงกับเศรษฐกิจในภาพรวม          
     "ถ้าแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาพร้อมๆ กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หมายความว่าการใช้จ่ายในประเทศหรือเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น อาจจะเป็นปัจจัยที่แบงก์ชาติต้องให้น้ำหนัก แต่สถานการณ์นั้นต้องรอดูการฟื้นตัวที่มั่นคงของโลกและของไทยด้วย...แต่เรามองว่าน่าจะพิจารณาประเด็นนี้ในช่วงปลายปีมากกว่า"น.ส.เกวลิน กล่าว           อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศ จะมีผลให้เงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 ขยับขึ้นได้ 0.4% ซึ่งปัจจัยเรื่องค่าแรงดังกล่าวได้คิดรวมไว้ในคาดการณ์เงินเฟ้อปี 56 ไว้แล้วที่ระดับ 3.3%

*ทิศทางเงินบาทแข็งค่ารับผลกระทบแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ
         
      หันมาดูทิศทางค่าเงินสำหรับปีนี้ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต มองทิศทางเงินบาทปี 56 จะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยมาจากเงินทุนไหลเข้าเอเชียและไทย ทำให้สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่แข็งค่า รวมถึงเงินบาทด้วยเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันยังคงมีบางประเทศพยายามแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้อ่อนค่า เช่น ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ญี่ปุ่นต้องการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมด้วยการทำให้เงินเยนอ่อนค่าเพื่อสนับสนุนภาคส่งออก          
     พร้อมมองว่า ความพยายามสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินบาทคงเป็นไปได้ลำบาก เนื่องจากดุลการค้าของประเทศจะเกินดุลเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้นในปี 56 ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยน่าจะกลับเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า         
     ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกและภาคธุรกิจต้องบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าในปีนี้ โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 56 เงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29 บาท/ดอลลาร์ โดยมีช่วงเคลื่อนไหวระหว่าง 28-30 บาท/ดอลลาร์          
     น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหาภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด(KR) มองว่า แนวโน้มเงินบาทมีทิศทางแข็งค่า ประเด็นหลักไม่ได้มาจากสาเหตุเงินทุนไหลเข้า แต่มาจากเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเป็นผลจากการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ ขณะนี้สามารถผ่านร่างกฎหมายเพื่อเลี่ยงการเกิดภาวะหน้าผาทางการคลัง(Fiscal Cliff)ได้แล้วในขั้นแรก         
     "ช่วงนี้ ถ้าเป็นเรื่องของเงินบาทนั้น Story ของดอลลาร์เป็นภาพที่ชัดเจนกว่าเรื่องการไหลเข้าของ Flow ซึ่งเรามองว่ายังไม่น่าเป็นกังวล แต่จะเป็นภาพของดอลลาร์ที่กลับไปอ่อนเพราะว่า Fiscal Cliff ที่มันจบไปได้ในยกแรก ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทไหลมาอยู่ที่ 30.30 บาท/ดอลลาร์ จาก 30.60 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าไป 30 สตางค์ภายใน 2 วันซึ่งเป็นภาพที่น่าสนใจ เพราะว่าเราเห็นเงินบาทนิ่งๆ ในระดับ 30.60 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงหลายเดือนที่แล้ว" น.ส.กาญจนา ระบุ          ทั้งนี้ นักลงทุนก็ต้องติดตามการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff รอบสอง ในเรื่องของการตัดลดงบประมาณและเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯที่จะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้งในเดือนก.พ.56          
     น.ส.กาญจนา มองว่า เมื่อสถานการณ์การแก้ปัญหา Fiscal Cliff เริ่มคลี่คลาย เงินบาทอาจจะมีจังหวะที่แกว่งตามข่าว แต่คาดว่าคงไม่แข็งค่าไปถึง 29 บาท/ดอลลาร์ อีกทั้งเรื่องวิกฤติหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปยังเป็นสิ่งที่ตลาดยังต้องติดตาม เพราะมองว่าประเด็นนี้จะกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งหลังจากการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff จบลง

    Choose :
  • OR
  • To comment