กำไรทบต้น คัมภีร์ลงทุนหุ้น VI ขั้นเทพของ ธนะสิน พิพัฒน์กิตติกุล

 

กำไรทบต้น คัมภีร์ลงทุน VI ขั้นเทพ ของ ธนะสิน พิพัฒน์กิตติกุล


แค่อ่านหนังสือ"คนดังรวยหุ้น"ก็ยกระดับพอร์ตสู่“ร้อยล้าน”ได้"ธนะสิน พิพัฒน์กิตติกุล"เซียนวีไอ บุรุษผู้ต้องมนต์ ทฤษฎี “กำไรทบต้น” ชายคนนี้แหละ


“ผู้ชายคนนี้เก่งมาก เรื่องการลงทุน” “โจ” อนุรักษ์ บุญแสวง นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เจ้าของนามแฝง “โจ ลูกอีกสาน” ในเว็บไซด์ Thaivi.com ผู้เดินตามทฤษฎี “กำไรทบต้น” สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของไอน์สไตน์ ตั้งสเตตัส ชักชวนให้“กรุงเทพธุรกิจ BizWeek”ไปทำความรู้จัก “ตี้” ธนะสิน พิพัฒน์กิตติกุล รุ่นพี่คนสนิทที่รู้จักกันมานาน 7 ปี
“ชายวัย 46” สมาชิกเว็บไซด์ รู้จักเขาดีในฐานะ ผู้ใช้นามแฝง TY การลงทุน “เชิงคุณภาพ” แทน “เชิงปริมาณ” ทำให้คุณพ่อลูก 2 ชาวหาดใหญ่รายนี้ (ลูกสาววัย 15 ปี และลูกชายวัย 10 ปี) ค้นพบคำว่า “กำไรทบต้น” จนสามารถครอบครองพอร์ตลงทุนหลัก “ร้อยล้าน” ได้ภายในระยะเวลาเพียง 12 ปี!!!
10 โมงตรงเป๊ะ ได้เวลานัด “ชายกลางคน” ปรากฎตัวขึ้น ท่ามกลางความสงสัยภายในใจ “ใช่หนุ่มปักษ์ใต้จริงหรือนี่” ด้วยรูปร่าง “สูงขาว” กระเดียดไปทางหนุ่มตี๋ “ธนะสิน พิพัฒน์กิตติกุล” เปิดบทสนทนาว่า เขาเป็นคนหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มาตั้งแต่กำเนิด เป็นลูกคนที่ 3 จากจำนวนพี่น้อง 5 คน พี่คนโตอายุ 50 ปี ที่บ้านยึดอาชีพเย็บชุดนักเรียนอยู่ในตัวเมืองหาดใหญ่
ใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่หาดใหญ่ จนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ก่อนจะสอบเรียนต่อคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในปี 2528 เรื่องเงินๆทองๆมี “เส่นห์มาก” บังเอิญไม่ชอบท่องจำ แต่รักที่จะทำความเข้าใจ ฉะนั้นวิชาที่เกี่ยวข้องกับคำนวณ เลือกแล้วว่าเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
หลังเรียนจบปริญญาตรีในปี 2532 นอนอยู่บ้านได้ 1 สัปดาห์ ก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งแรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบภายในภาคใต้ ณ ธนาคารกสิกรไทย "ผมไปสมัครงานที่นี่ตอนใกล้เรียนจบ พอดีเขามาเปิดรับพนักงานใหม่ถึงรั้วมหาวิทยาลัย นั่งทำงานได้ 3 เดือน ก็ย้ายไปทำตำแหน่งผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีในบริษัท สำนักงาน เอส จี วี ณ ถลาง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม อาร์เธอร์ แอนเดอร์สัน"
อดีต “เอส จี วี ณ ถลาง” เคยเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านบัญชีและที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำระดับแนวหน้าของเมืองไทย ใครที่จบด้านบัญชี ส่วนใหญ่อยากลงเอยในสายวิชาที่เรียนมาทั้งนั้น ทิ้งใบสมัครในบริษัทนี้ไม่นาน เขาก็โทรมาตาม ทำงานได้ 4 ปี ลาออกอีก เพราะอยากกลับไปช่วยธุรกิจที่บ้าน เพิ่งหยุดทำงานช่วยที่บ้านเมื่อปี 2555 และยกหน้าที่ให้พี่น้องดูแลธุรกิจแทน "ธนะสิน" เล่า 

..เพราะอยากใช้เวลาเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นมากๆ
“คุณพ่อลูกสอง” เล่า “จุดสนใจ” ในตลาดหุ้นให้ฟังว่า ลงทุนครั้งแรกตอนเรียนอยู่ปี 4 บังเอิญไปรู้จักรุ่นพี่คนหนึ่ง เขาทำงานเป็นมาร์เก็ตติ้ง คุยไปคุยมาดัน “ปิ๊งไอเดีย” อยากลงทุนกับเขาบ้าง หลังเห็นรุ่นพี่พูดถึงผลตอบแทน เขาบอกว่า “ได้กำไรมากกว่าฝากแบงก์อีก”
รุ่นพี่ชวนผมไปเปิดพอร์ตที่โบรกเกอร์ธนชาต “เงินตั้งต้น” น่าจะประมาณ 2 หมื่นบาท จำได้ว่าซื้อหุ้นแค่ 1-2 ตัว เน้นหุ้นจำพวกปันผลสูงๆ ข้อมูลพื้นฐานไม่ต้องถามเลย!! แทบไม่สนใจ ถือได้ 6 เดือน ก็ขายทิ้ง ชนิดไม่รอเงินปันผลด้วยซ้ำ ได้กำไรนิดหน่อยก็หรูแล้ว ช่วงนั้นเรียนจบพอดี รู้สึกไม่อยากให้เวลากับตลาดหุ้นมากไปกว่างานประจำ เลยขายทิ้งทั้งหมดและเลิกเล่น"
"ธนะสิน" เล่าว่ากลับมาสนใจตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน ตอนนั้นประมาณปี 2538 วันหนึ่งเดินเข้าไปในร้านหนังสือ เหลือบตาไปเห็นหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” (Rich Dad Poor Dad) ของ “โรเบิร์ต คิโยซากิ” และหนังสือ “ตีแตก”ของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย หนังสือ 2 เล่มนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนชั้นหนังสือแนะนำ แต่ก็สะดุดตาจนต้องซื้อมาอ่าน
"ผมอ่าน 2 เล่มนี้ ได้ 1-2 สัปาดห์ ความรู้สึก “อยากลงทุน” กลับมาอีกครั้ง คราวนี้ตัดสินใจหอบเงิน 5 หมื่นบาท ไปเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์ นวธนกิจ ช่วงนั้นยอมรับยังสับสนกับหลักการลงทุนเล็กน้อย ทำให้ยึดกลยุทธ์ เน้นซื้อหุ้นที่มี P/E ต่ำๆ 7-8 เท่า และเงินปันผลสูงๆ “หุ้นกลุ่มสิ่งทอ” ถือว่าเข้าหลักการมากสุดในตอนนั้น ลงทุนได้ไม่นาน เมืองไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้พอร์ตลงทุนของผมติดลบ"ขาดทุน 40-50% !!
แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินก็ไม่มาก เพราะเงินตั้งต้นต่ำเพียง 5 หมื่นบาท ไม่รู้สึกเครียดเท่าไร ไม่ค่อยเสียกำลังใจ
"ฉะนั้นผมยังคงลงทุนต่อไป"
ผ่านมาถึงปี 2546 กลับมาทบทวนเรื่องการลงทุนใหม่อีกครั้ง คราวนี้เริ่มหันมาสนใจดูธุรกิจใน “เชิงคุณภาพ” แทน “เชิงปริมาณ” มากขึ้น พูดง่ายๆ เราต้องดูว่าธุรกิจนั้นๆมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ มีความแข็งแกร่งมากแค่ไหน
อย่าไปนั่งดูเพียงตัวเลขการเงินอย่างเดียว ต่อให้หุ้นตัวนั้นมีค่า P/E ต่ำมากแค่ไหน แต่ถ้าอนาคตมีแววรุ่งยาก ธุรกิจก็มีสิทธิไม่สวยได้เหมือนกัน หุ้นกลุ่มส่งออกจำพวกอาหาร ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ในขณะนั้น สามารถทนต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ ตอนโน่นรวมถึงตอนนี้ด้วย 
ธนะสิน ยังเล่าว่า มักเลือกลงทุนหุ้น 2 แบบ คือ 1.แบบที่มีอัตราการเติบโตระยะยาวภายใน 5-10 ปี เฉลี่ยปีละ 20% 2.ระยะสั้นช่วง 2-3 ปี เฉลี่ยผลเติบโตประมาณ 50-100% ต่อปี วิธีคิดลักษณะนี้ ถือว่าสร้างผลตอบแทนที่ดีมาก โดยเฉพาะในปี 2553 ถ้าจำไม่ผิดนะ...
เคยโกยกำไร 230% สูงสุดในชีวิตการลงทุน!!! 
ช่วงนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติการเงิน (แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส) มาหมาดๆ หลังได้กำไร 230% ทำให้มูลค่าลงทุน ขยับขึ้นมายืน 8 หลักปลาย ๆ 
หุ้น Commodity คือ “พระเอก” ของพอร์ต

ตอนโน่นมองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่ำตกมาก หลังโดนวิกฤติเล่นงาน แต่เชื่อว่าอีกไม่นานราคาจะเด้งกลับมา สุดท้ายใช้เวลาเพียง 1 ปี ราคาวนกลับมาเร็วมาก
ถามถึงชื่อ “พระเอก” เขา บอกว่า หนึ่งในนั้น คือ หุ้น โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL ถือลงทุนมา 1 ปี “เสน่ห์” ของหุ้น PTL คือ หลังวิกฤติราคาแผ่นฟิลม์ตกต่ำมาก เรียกว่าต่อเนื่องมาตั้งแต่อุตสาหกรรมเลิกใช้วีดีโอเทปแล้วเปลี่ยนมาใช้แผ่นซีดีในรูปแบบของดิจิทัล ทำให้ไม่มีการเพิ่มกำลังการผลิต
เมื่อพ้นช่วงวิกฤติความต้องใช้สูงขึ้น ทำให้เขามีกำไรสูงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ราคาหุ้นก็เติบโตเร็วเช่นกัน ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฎจักรมักจะกลับมา ตอนนั้นหุ้น เอ.เจ.พลาสท์ (AJ) ก็น่าสนใจ แต่บังเอิญหุ้น PTL ราคาถูกกว่านิดหนึ่ง
หุ้น เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) รับบท “ผู้นำ” ของพอร์ตเหมือนกัน ตอนนั้นเขาเปลี่ยนจากธุรกิจท่อทองแดงมาเป็นประกอบแอร์สำเร็จรูป ถือเป็นการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่ดี เพราะได้ประโยชน์เต็มๆ ถือลงทุนมา 3 ปี ผลประกอบการและราคาหุ้นเติบโตต่อเนื่อง
"การลงทุนในหุ้น สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องอดทนต่อความผันผวน แม้จะมองว่าในระยะยาวจะให้ผลตอบแทนสูงก็ตาม"
หลังปี 2554 ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นอย่างไร?? เซียนหุ้นวีไอ เล่าว่า เฉลี่ย 40-50% บนสมมติฐานที่มีหุ้นในพอร์ต 10 ตัว แบ่งเป็นตัวหลักๆ 5 ตัว คิดเป็น 90% ของพอร์ตลงทุน อีก 5 ตัว คิดเป็น 10% ของพอร์ต ตอนนั้นชอบ “หุ้นเทิร์นอะราวด์” เน้นเฉพาะตัวที่ต้องมีแนวโน้มดีขึ้นภายใน 1 ปี ถ้ารอนานเกินไปจะเสียโอกาส
จากนั้นไม่นานพอร์ตลงทุน ก็ทะยานสู่ 9 หลัก!!
ทุกครั้งที่ได้ “กำไร” จะนำเงินไปใช้ แต่หลังเปลี่ยนกลยุทธ์ เมื่อได้กำไรจะนำไป “ทบต้น” ตลอด เรียกว่าได้ส่วนต่างมากก็นำไปลงทุนต่อ
ถามถึงพอร์ตลงทุนปัจจุบัน? ตอนนี้เทรดผ่านอินเตอร์เน็ต 100% ที่บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย),บล.ฟินันเซีย ไซรัส และบล.ไทยพาณิชย์ ทุกวันนี้ก็ยังคงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเหมือนเดิม คือ 30% ใส่ไปใน “หุ้นเติบโตสม่ำเสมอ" เน้นพวกกลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะกระเบื้อง และเซรามิก และกลุ่มค้าปลีก อีก 70% เป็น “หุ้นเทิร์นอะราวด์” อาทิ กลุ่มพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และเทคโนโลยี เป็นต้น 
ตามสถิติ “หุ้นเติบโตสม่ำเสมอ” มักมีผลประกอบการขยายตัวปีละ 15-30% ต่อเนื่องถึง 5 ปี ขณะที่ราคาหุ้นจะขยับประมาณ 20% ส่วน “หุ้นเทิร์นอะราวด์” ผลประกอบการจะเติบโต 100% เพียง 1-2 ปี และราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้น 300% ต่อปี เขาวิเคราะห์

“หนุ่มวีไอ” เผยชื่อหุ้นบางตัวที่ถือลงทุนว่า "ผมชอบ" หุ้น ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) ซื้อมาปี 2555 ต้นทุน 3 บาท ราคาตอนนี้เฉลี่ย 16 บาท กะจะถือไปเรื่อยๆ รอดูสถานการณ์ไปก่อน สมมุติมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนทำให้พื้นฐานของหุ้นเปลี่ยนแปลงไป ก็จะขาย ไม่เคยยึดติดในตัวหุ้น พร้อมจะสละได้ตลอดเวลา
นิคมอุตสาหกรรมบ้านเรา อาจได้รับดีจากการที่ประเทศญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาเมืองไทยมากขึ้น เพราะค่าแรงในญี่ปุ่นสูงขึ้น แถมยังจะย้ายฐานการผลิตจากเมืองจีนบ้านเราด้วย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศออกอาการไม่ค่อยดีนัก เท่าที่ฟังผู้บริหารเขาบอกว่า เริ่มเห็นสัญญาณย้ายมาบ้างแล้ว
หุ้น พรีเมียร์ เทคโนโลยี (PT) ตัวนี้ก็ชอบ เขาจะได้รับประโยชน์จากระบบ 3 G เพราะบริษัทขายอุปกรณ์ให้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย (DTAC ,AIS, TRUE) ที่สำคัญเขายังมีศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราเติบโตสูงมาก ฉะนั้นในช่วง 1-2 ปี บริษัทน่าจะมีรายได้เติบโตปีละ 50% จากนั้นจะมีอัตราเติบโตปีละ 10-20% ตามปกติ ซื้อหุ้น PT มาเมื่อปี 2555 ต้นทุนเท่าไรจำไม่ได้ ไม่ค่อยสนใจจำราคาเท่าไร
ที่ผ่านมาไม่เคยตั้ง “จุดตัดขาดทุน” (Stop-Loss) ส่วนใหญ่จะดูพื้นฐานของธุรกิจอย่างเดียว เว้นเสียแต่ราคาหุ้นตกหนัก ก็จะกลับมาทบทวนว่า คิดผิดหรือเปล่า แต่ถ้าพบว่าไม่มีอะไรผิดพลาดจะถือลงทุนต่อไป แต่ถ้าพบข้อผิดพลาด ก็จะขายทันที แม้ว่าภาวะนั้นจะขาดทุนหรือกำไรก็ตาม ตรงกันข้าม หากราคาหุ้นสูงมาก แต่อนาคตยังดีอยู่ก็จะถือต่อไป "ผมไม่เคยนำราคาหุ้นมาเป็นตัวตั้ง"
“ข้อดี” ของการมีหุ้นน้อยตัว ทำให้เราดูแลได้ทั่วถึง ติดตามรายละเอียดได้ดี แต่การลงทุนไม่มาก ไม่ได้หมายถึงศึกษาน้อย ตรงข้ามเราวิเคราะห์หุ้นเกือบทั้งตลาด เพียงแต่คัดตัวที่ดีที่สุดมาอยู่ในพอร์ต ซึ่งผลตอบแทนจะสูงกว่าการกระจายการลงทุน แต่ไม่ควรถือเพียง 1-2 ตัว มีติดพอร์ต 4-5 ตัว โอเคสุด
"วิธีหาข้อมูล ผมก็ทำเหมือนๆนักลงทุนทั่วไป คือ อ่านหนังสือพิมพ์ เปิดดูงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) ทางอินเตอร์เน็ต เรียกว่าส่องเกือบทุกตัว ไปงานประชุมผู้ถือหุ้น ทุกครั้งที่รับข้อมูลมาจะกลับมานั่งวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ ส่วนใหญ่จะเข้าข้างตัวเอง (ยิ้ม) หากข้อมูลของบริษัทกับของเราตรงกันผมจะซื้อลงทุน"
เขาเล่าว่า หลังๆดูงบการเงินน้อย เน้นวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้มากกว่า การดูงบการเงินเป็นเพียงการยืนยันความเชื่อของเราเท่านั้น ส่วนใหญ่จะดูตัวเลขยอดขาย กำไรขั้นต้น กำไรสุทธิ และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ตัวหลังจะดูเป็นพิเศษ (ROE) ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะจะบ่งบอกถึงความสามารถในการทำกำไร ส่วนอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน ก็ดูบ้าง เน้นหุ้นที่ให้อัตราส่วน 4% ขึ้นไป
ที่ผ่านมาไม่เคยตั้งเป้าหมาย ขอแค่โตเฉลี่ยปีละ 15% ก็พอใจแล้ว
ตั้งแต่ลงทุนในตลาดหุ้น แน่นอนสิ่งที่ได้รับมาตลอด คือ “ผลกำไร” ทำให้สามารถนำมาเป็นความมั่นคงในชีวิต แต่ผลกำไรมักเกิดจากการเรียนรู้ก่อนลงทุน
“ดร.นิเวศน์” และ “ปีเตอร์ ลินซ์” 2 บุรุษ คือไอดอลการลงทุนของธนะสิน
“เซียนหุ้นร้อยล้าน” จบบทสนทนา ด้วยการทำนายดัชนีไทยในปี 2556 ว่า สุดท้ายตัวเลขจะยืนระดับไหน คงตอบไม่ได้ เพราะมีส่วนผสมหลายๆอย่าง โดยเฉพาะอารมณ์ของนักลงทุน แต่น่าจะขยายตัวประมาณ 15% จากต้นปี นักลงทุนรุ่นใหม่ และคนที่มีอายุจะหันมาสนใจหุ้นมากขึ้น
นักลงทุนมือใหม่ควรแบ่งเงินมาลงทุนมาในตลาดหุ้น ตามความมั่นใจและความรู้ของตัวเอง10% ที่เหลือ 90% ลงทุนในกองทุนเปิดตราสารหนี้ ผลตอบแทนตราสารหนี้น่าจะ 3% แต่หากมีความรู้เพียงพอ ก็ลงทุนหุ้นไปเลย 50% 

นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาเล่นหุ้นเยอะมาก เพราะเห็นว่ามีผลตอบแทนสูง หน้าใหม่แทบไม่เคยดูพื้นฐานกิจการด้วยซ้ำ 
“น่ากลัวมาก” การลงทุนที่ถูกต้อง คือ.. 
"จงเข้ามาในช่วงถูกๆ ไม่ใช่ในเวลาแพงๆ" ฉะนั้นคุณต้องขยันหาความรู้ หากอยากอยู่ในตลาดหุ้นนาน ๆ



    Choose :
  • OR
  • To comment