เพิ่มความมั่งคั่งอย่างมั่นคงไม่รู้จบ

 


มั่งคั่งอย่างมั่นคงไม่รู้จบ

เทคนิคการลงทุนในหุ้น
การวางแผนการลงทุนเปรียบเสมือนทางด่วนสู่ความมั่งคั่ง การออกตัวที่ดี ตั้งต้นได้เร็ว และเดินตามแผนที่วางไว้ ย่อมช่วยให้ถึงเส้นชัยได้สมดังใจหวัง”

นี่คือคำกล่าวของ ดร.กฤษฎา เสกตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนา
ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้สร้างความรู้ด้านการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Management) คนแรกๆ ของประเทศไทย ได้แนะนำการสร้างความมั่งคั่งกับท่านผู้อ่านนิตยสาร The Leader of Wealth เพื่อต้อนรับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในปีมังกรทอง พร้อมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

ก่อนที่จะเริ่มการสัมภาษณ์ ดร.กฤษฎา ได้ให้นิยามของคำว่า “ความมั่งคั่ง” ในด้านการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลว่า ความมั่งคั่ง (Wealth) หมายถึง การที่ขนาดของสินทรัพย์สุทธิของตนเอง ซึ่งมาจากสินทรัพย์รวมของตนหักออกด้วยหนี้สินของตน ซึ่งหากสองค่านี้ลบกันแล้วมีค่าบวกมากๆ ก็เรียกว่ามีความมั่งคั่งมาก ซึ่งผู้ที่มีความมั่งคั่งมาก ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจที่จะหยุดต่อยอดความมั่งคั่ง เพราะเราสามารถสร้าง “ความมั่งคั่งอย่างมั่นคงได้ไม่รู้จบ”

เทคนิคการลงทุนในหุ้น
เคล็ดลับที่จะทำให้ท่านมีความมั่งคั่งไม่รู้จบมี “หลักในการบริหารความมั่งคั่ง 4 องค์ประกอบ” ด้วยกัน คือ

1. การสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) ได้แก่ การหารายได้ ทั้งจากการดำเนินธุรกิจ รายได้จากงานประจำ รวมถึงรายได้ที่ได้มาจากการใช้ความสามารถของตนเอง เป็นต้น

2. การปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) คือ การสร้างหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยงของ
ความเสียหาย ตลอดจนความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การทำประกันชีวิต การประกันธุรกิจ

3. การเพิ่มพูนความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) ซึ่งต้องมีการวางเป้าหมายและการวางแผนและเพื่อให้เงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

4. การส่งมอบความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) เป็นการจัดสรรทรัพย์สินเพื่อส่งต่อให้กับคนรอบข้าง และแบ่งปันให้กับสังคม โดยมั่นใจว่าทรัพย์สินจะถูกสืบทอดไปตามเจตนารมณ์ของตนเองซึ่งผู้มีความมั่งคั่งย่อมข้ามพ้นองค์ประกอบแรกไปแล้วระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้สามารถส่งมอบไปจนถึงลูกหลาน

การวางแผนการเงินเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง” จึงเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่ความมั่นคง โดยเฉพาะการทำให้ “ขนาดและมูลค่าของสินทรัพย์ลงทุน” เพิ่มขึ้นก่อนอื่นขอเจาะลึกลงไปเกี่ยวกับ “สินทรัพย์” ก่อนว่า... สินทรัพย์ของบุคคลแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
- สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งใช้เพื่อดำรงชีวิตประจำวันและเผื่อเหตุฉุกเฉิน
- สินทรัพย์ส่วนตัว เช่น บ้าน รถยนต์ เครื่องประดับ และอื่นๆ ที่มีไว้โดยไม่ตั้งใจเอาไว้ขายเพื่อลงทุน
- สินทรัพย์ลงทุน เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น กองทุนรวม และหลักทรัพย์ชนิดต่างๆ

ดังนั้น เคล็ดลับของการเพิ่มพูนความมั่งคั่งจึงอยู่ตรงที่ “การเพิ่มขนาดของสินทรัพย์ลงทุน” ซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษ คือ มีมูลค่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ง่ายกว่าสินทรัพย์ชนิดอื่น สืบเนื่องมาจากผลตอบแทนประจำ เช่น เงินปันผล หรือดอกเบี้ย และราคาตลาดที่เปลี่ยนไปของสินทรัพย์ลงทุนนั้น ซึ่งหากต้องการทำให้ขนาดและมูลค่าของสินทรัพย์ลงทุนเพิ่มขึ้นก็มีหลักง่ายๆ แนะนำ ดังนี้

อย่าหยุดสะสมสินทรัพย์ลงทุนตลอดชีวิต

ในวันนี้ถ้าเรามีสินทรัพย์ลงทุนอยู่ก้อนหนึ่งแล้ว อย่าปล่อยให้เป็นแค่เงินฐานที่เป็นความหวังเดียวเท่านั้นในการต่อยอดความมั่งคั่ง แต่ผลตอบแทนจากเงินก้อนนี้และเงินใหม่ที่เป็นรายได้คงเหลือของเรา จะต้องใส่เข้าไปเพื่อทำให้เงินฐานก้อนนี้ใหญ่ขึ้นตลอดเวลา ยิ่งตอนเราทำงาน อัตราเร่งของการสะสมยิ่งต้องสูง และค่อยๆ ลดลงเมื่อใกล้เกษียณและหลังเกษียณ ในช่วงหลังเกษียณนั้น ถ้าผลตอบแทนจากสินทรัพย์ลงทุนใหญ่พอที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิต เราอาจหยุดสะสมก็ได้ แต่ถ้าใช้ไม่หมดก็นำไปสะสมต่อหรือจะนำไปแบ่งสรรกระจายความมั่งคั่งให้แก่ลูกหลานหรือสังคม ซึ่งถือว่า...
ทำให้เราได้ต่อบุญให้เพิ่มพูนได้มากขึ้นไปอีก

รู้เคล็ดลับวิธีการสะสมสินทรัพย์ลงทุน

การสะสมสินทรัพย์ลงทุนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เนื่องจากมูลค่าของสินทรัพย์ลงทุนเปลี่ยนแปลงขึ้นลงจากปัจจัยแวดล้อม ซึ่งอาจมาจากตัวเราที่ตัดสินใจถูกหรือผิดหรือจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจ หรือตลาดซึ่งเราควบคุมไม่ได้ ทำให้อาจได้รับผลกระทบทางลบหรือบวก แต่เมื่อเห็นว่า...ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องทำภารกิจสะสมสินทรัพย์ลงทุน เราจึงต้องเรียนรู้เคล็ดลับที่จะสะสมสินทรัพย์ลงทุนโดยให้มูลค่าเพิ่มขึ้นในระยะยาวตามเป้าหมายของเรา โดยต้องควบคุมหรือบรรเทาความเสียหายที่อาจทำให้มูลค่าสินทรัพย์ลงทุนมีมูลค่าลดลงให้น้อยที่สุดก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า... เราจะสะสมสินทรัพย์ลงทุนอะไร เพราะในโลกของการลงทุนมีสินทรัพย์ลงทุน ให้เลือก
อยู่มากมาย เช่น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม หรือสังหาริมทรัพย์ เช่น ทองคำ อัญมณี ภาพวาดเป็นต้น หรืออาจเป็นสินทรัพย์การเงินที่จับต้องไม่ได้ เช่น หุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตราสารหนี้ของภาครัฐ ภาคเอกชน ตราสารอนุพันธ์ เช่น ฟิวเจอร์สของหุ้นสามัญ (Single Stock Futures) หรือฟิวเจอร์สของทองคำ(Gold Futures) เป็นต้น ซึ่งการมีความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ลงทุนเหล่านี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องรู้ทุกชนิด หรือไม่ เราเลือกได้ แต่การที่รู้หลายอย่างทำให้เปิดโอกาสต่อเรามากกว่าที่จะค้นหาว่าในแต่ละช่วงเวลา สินทรัพย์ลงทุนชนิดใดให้โอกาสมากกว่า เพราะเหตุใดความรู้เกี่ยวกับการลงทุนมีทั้งความกว้างและความลึก แต่ถ้าจะให้สกัดเป็นแก่นของการลงทุนตามความเห็นผมสรุปได้เป็นหลักการ “2p” และ “2s”

- รู้จัก Product ในที่นี้หมายถึง ลักษณะของสินทรัพย์ลงทุน เช่น ลักษณะทางกายภาพ (กรณีจับต้องได้)ลักษณะสัญญา (กรณีจับต้องไม่ได้) วิธีซื้อขาย เป็นต้น
- รู้จัก Pricing เราจะซื้ออะไรต้องสามารถมองได้ว่าราคาตลาดตอนนี้เป็นอย่างไร ราคาในอนาคตน่าจะเป็นอย่างไร (การคาดการณ์อาจถูกผิดได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและตนเองต้องพัฒนาความรู้ประสบการณ์เพิ่มเติม)
- รู้จัก Strategies สมมุติว่าเราวิเคราะห์ Product และ Pricing ของสินทรัพย์ลงทุนพบว่าน่าสนใจหลายตัวคำถาม คือ จะลงทุนเพียง 1 ตัว หรือหลายตัวดี จะซื้อทีเดียวหรือทยอยซื้อ จะขายทีเดียวเมื่อกำไร หรือแบ่งขายดี เป็นต้น
- รู้จัก Self คือ รู้จักตนเองว่าชอบที่จะลงทุนอะไร แบ่งสัดส่วนการลงทุนแบบไหน ชอบที่จะซื้อหรือขายแบบใด เมื่อกำไรหรือขาดทุน ณ จุดใด จะต้องทำแบบใด เราต้องค้นหาและทดลองให้เจอให้ได้ว่าเราจะมีวิธีการอย่างไรที่ลงทุนแล้วทำให้สินทรัพย์ลงทุนเรามีขนาดและมูลค่าเพิ่มขึ้นในระยะยาว ซึ่งต้องเป็นวิธีการที่เราชอบด้วย

อย่าลืมครับว่า… “ชีวิตคือการลงทุน” เราจึงต้องลงทุนให้มีความสุขด้วย ซึ่งผมขอแนะนำให้เรียนรู้เพื่อเพิ่มความมั่นใจก่อนการลงทุน โดยสามารถเรียนรู้ได้ที่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บทความโดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ไปที่ >> เทคนิคการลงทุน

    Choose :
  • OR
  • To comment