เทคนิคการออมเงิน: ใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

เทคนิคการออมเงิน: ใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในชีวิตจริงของเราทุกคนนั้น เราได้ทำการบริหารเงินส่วนบุคคลกันอยู่แล้วในทุกวัน ไม่ว่าเราจะเรียนจบจากสาขาใด หรือทำงานในสายงานอาชีพใดก็ตาม โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทางด้านการเงินเลย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะทำงานเพื่อเพิ่มรายได้ หรือลดรายจ่ายของตนเองและครอบครัวก็ตาม ก็ถือเป็นการบริหารเงินส่วนบุคคลในระดับเริ่มต้นทั้งสิ้น

ในสภาพเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงอย่างนี้ ไม่ว่าคุณจะหันมองไปทางไหนก็จะพบว่าข้าวของมีแต่แพงขึ้น ราคาข้าวแกงจานละ 20-25 บาท แทบไม่พอกิน เดี๋ยวนี้อย่างถูกก็จานละ 30-35 บาทเข้าไปแล้ว ในเมื่อค่าครองชีพปัจจุบันนี้ต่างถีบตัวสูงขึ้น (ทีเงินเดือน/หุ้นไม่เห็นจะพุ่งขึ้นพรวด ๆ อย่างนี้บ้างเลย) แน่นอนทุกคนต่างก็ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเงินมากขึ้นตามไปด้วย

10 วิธีการใช้เงินให้เป็นประโยชน์

ที่ผ่านมามีการแนะนำให้เก็บเงิน ออมเงินมาตลอด ในบทความนี้เรามาดูกันเรื่องการใช้เงินให้เป็นประโยชน์ เพราะตั้งแต่ลืมตาตื่นมาทุกวันเราก็ต้องใช้เงินกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าผ่านทาง ค่าอาหาร ฯลฯ ไปจนกว่าจะกลับถึงบ้านและนอน ดังนั้น พอสรุปได้ว่า เรามีความจำเป็นต้องใช้เงินอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องใช้เงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเรา และยังมีเงินใช้ไปตลอดชีวิตของเรา สิ่งที่เราควรคำนึงคือ

เรื่องแรก ที่สำคัญมากคือ การวางแผนการใช้เงิน

โดยที่คุณควรจะเริ่มจากการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของคุณทุกวันหรืออย่างน้อยก็ทุกสัปดาห์ โดยการจดบันทึกรายการที่คุณต้องควักเงินจ่ายทุกบาท ทุกสตางค์ ไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ แต่ถ้าได้ก็ดีมาก วิธีนี้จะช่วยให้คุณรู้ว่าคุณหมดเงินไปกับรายจ่ายประเภทไหนบ้าน และจะลดรายจ่ายประเภทใดได้บ้าง

เรื่องที่สอง ต้องมีการใช้เงินได้อย่างถูกต้องตามแผนที่วางไว้แล้ว

คนจำนวนมากวางแผนไว้แล้ว แต่เวลาการใช้เงินไม่เป็นไปตามแผนชอบใช้ตามใจ เช่น เห็นโทรศัพท์มือถือออกรุ่นใหม่ chat ได้ ท่านก็จะเอาเงินที่วางแผนไว้ไปซื้อสิ่งเหล่านี้ซึ่งไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อท่านมากมาย

เรื่องที่สาม การใช้จ่ายเงินในแต่ละครั้งต้องให้คุ้มค่ากับความพอใจที่เพิ่มขึ้น

หรืออรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Marginal Utility) ดังนั้น ก่อนควักเงินออกจากกระเป๋าไปทำอะไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้ดีว่าได้ประโยชน์คุ้มค่าแล้วจึงจะจ่ายเงินออกไปทุกครั้ง

เรื่องที่สี่ เลือกใช้และซื้อสินค้าทดแทนที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับสินค้าราคาแพง

เช่น การเลือกใช้ของใช้ประจำวันวันต่าง ๆ ในบางครั้งควรเลือกใช้สินค้าที่มีราคาถูกกว่า หรือการไม่ยึดติดกับยี่ห้อสินค้า รวมทั้งเลือกใช้สินค้าตามความจำเป็น และความเหมาะสมจะเกิดประโยชน์ต่อเรา เพราะเราจะมีเงินเหลือจากการใช้มาเก็บออมได้

เรื่องที่ห้า ซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ เมื่อมีการจัดเทศกาลลดราคาสินค้าประจำปีหรือครึ่งปี หรือซื้อสินค้าในงานส่งเสริมการขายเป็นการเฉพาะ เช่น คูปองส่วนลดสินค้าที่ตรงกับความต้องการของท่าน ใครบอกว่าของดีราคาถูกไม่มีในโลก

เรื่องที่หก  เลือกใช้บริการทางการเงินที่มีต้นทุนค่าใช้บริการต่ำ

เช่น ชำระค่าสาธารณูปโภค หรือการชำระเงินที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกับแหล่งที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม หรือในลักษณะคล้ายกันก่อนใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เราควรเปรียบเทียบบริการบัตรเครดิตของสถาบันการเงินและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เลือกใช้บัตรที่ให้ประโยชน์มากมาก เช่น มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำหรือถ้าจะให้ดีมากก็ต้องไม่มีค่าธรรมเนียม

เรื่องที่เจ็ด ซื้อสินค้าที่ต้องใช้เป็นประจำและมีอายุการใช้งานสั้นครั้งละมาก ๆ

เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า เพราะการซื้อยกโหลจะมีราคาถูกกว่า อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทางไปซื้อด้วย

เรื่องที่แปด เลือกซื้อสินค้ามือสองที่มีคุณภาพดีแทนการซื้อของใหม่

เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้สำนักงาน และของที่ทำงาน เป็นต้น แต่ข้อคิดสำคัญต้องเลือกซื้อให้ดี โดยการหาข้อมูลให้มั่นใจว่าเราได้ของดีมือสอง

เรื่องที่เก้า วางแผนการใช้เงินสำหรับลูกน้อย

สำหรับคนที่มีครอบครัวแล้ว มีโซ่ทองคล้องใจด้วยคือ มีบุตร/ธิดา เราก็ต้องวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาของลูก ในการคำนวณหาค่าเล่าเรียนแบบคร่าว ๆ ต้องคิดจากค่าเงินในปัจจุบันและอนาคต โดยให้รวมค่าเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีเข้าไปด้วย จากนั้นก็ต้องวางแผนเก็บเงินเป็นรายเดือนกำหนดเป้าหมายไปเลยว่าใน 1 ปี เราจะเก็บเงินสักเท่าไร

เรื่องสุดท้าย วางแผนการใช้เงินยามเกษียณ

ก่อนอื่นคุณต้องถามตัวเองก่อนว่าตอนเกษียณอายุ คุณควรจะมีเงินไว้ใช้เท่าไรจึงจะพอเพียงกับการใช้ชีวิต และเป็นค่ายาในการรักษาพยาบาล การคาดคะเนคร่าว ๆ สำหรับรายจ่ายของคุณในช่วงนั้นคือ เงินเดือนสุดท้าย ณ วันที่จะเกษียณอายุแล้วหารด้วย 2 ตัวเลขนั้นจะเป็นค่าใช้จ่าย  โดยเฉลี่ยที่คุณต้องใช้หลังเกษียณ ส่วนเงินออมสำหรับที่จะใช้ดำรงชีพในอนาคตมีวิธีการคำนวณแบบคร่าว ๆ ดังนี้ อายุปัจจุบันคูณรายได้ทั้งปีหารด้วย 10 คำตอบคือ จำนวนเงินที่คุณต้องเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ
สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นหลักการอะไรก็ตาม ทุกอย่างจะกลับมาสู่เรื่องสำคัญที่สุด 2 สิ่ง ได้แก่ “วินัย” ที่ต้องใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น และ “จิตใจ” ที่จะเป็นตัวกำหนดความสุขให้กับเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองเสมอไป

ข้อควรระวังเรื่องการเงิน

การไปค้ำประกันให้ผู้อื่น ถ้าไม่มีการตรวจสอบให้ดี ก็คือตัวทำลายเงินออมของเรา หากเราเข้าไปค้ำประกันจนตัวเองต้องบาดเจ็บ อันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องใช้ความรอบคอบค่อนข้างมาก

    Choose :
  • OR
  • To comment