เทคนิคการออมเงิน: หลักฐานการงอกเงยของเงิน

 

เทคนิคการออมเงิน: หลักฐานการงอกเงยของเงิน

คำแนะนำแกมบังคับให้ออมเงิน ใคร ๆ ก็บอกกันได้ แต่จะเชื่อหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจะโน้มน้าวใจให้เชื่อ จำเป็นต้องมีสิ่งที่เป็นรูปธรรมแสดงให้เห็น ซึ่งไม่มีอะไรจะชัดเจนเท่ากับการงอกเงยของเงินออม
ขอเริ่มที่เป้าหมายว่า ถ้าต้องการมีเงินสด 1 ล้านบาทเมื่ออายุ 60 ปี คำถามคือ เราจะต้องออมเงินเท่าไรในแต่ละเดือนจึงจะมีเงิน 1 ล้านบาท คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยว่าเราเริ่มออมเมื่ออายุเท่าไร และตลอดเวลาของการออม อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงเท่าไร


ปัจจัยแรก “เริ่มออมเมื่ออายุเท่าไร” พอเข้าใจได้ เพราะถ้าออมเมื่ออายุมากก็ต้องออมเงินในแต่ละเดือนมากเป็นธรรมดา ปัจจัยที่สอง “อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงเท่าไร” เป็นตัวชี้ความรวดเร็วของการงอกเงยของเงิน ตัวอย่างเช่น ฝากเงิน 100 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เมื่อครบหนึ่งปี เงิน 100 บาทจะงอกเงยขึ้นเป็น 104 บาท แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อครบหนึ่งปี เงิน 100 บาทจะงอกเงยขึ้นเป็น  110 บาท

ดังนั้นทั้ง “เวลาที่เริ่มออม” และ “อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย” รวมกันมีอิทธิพลสำคัญต่อจำนวนเงินออกในแต่ละเดือน จนกลายเป็นเงิน  1 ล้านบาทเมื่ออายุ 60 ปี

จากการคำนวณพบว่า หากเริ่มออมเมื่ออายุ 25 ปี ในอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ตลอดระยะเวลาการออม 53 ปีเราต้องออมเงินเดือนละประมาณ 1,095 บาทจึงจะมีเงิน 1 ล้านบาท เมื่ออายุ 60 ปีได้ หากเริ่มออมเมื่ออายุ 35 ปีในอัตราดอกเบี้ยเดียวกัน จะต้องออมเงินเดือนละประมาณ 1,045 บาท และหากเริ่มเมื่ออายุ 45 ปีจะต้องออมเงินเดือนละประมาณ 4,064 บาท

คราวนี้ลองมาดูที่อัตราเฉลี่ยตลอดระยะเวลาออมที่ร้อยละ 6 ต่อปีกันดูบ้าง หากออมเมื่ออายุ 25 ปี 35 ปี และ 45 ปี จะต้องออมเงินเดือนละ 436 บาท 1,052 บาท และ 2,890 บาท ตามลำดับ จึงจะบรรลุเป้าหมาย 1 ล้านบาทเมื่ออายุ 60 ปี

จำนวนเงิน 1 ล้านบาทตามที่มุ่งหวังนี้ จะเป็นจริงขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อเราออมเงินได้ตรงตามกำหนดเวลา คือต้นเดือนของทุกเดือน และไม่แตะต้องเงินที่ออมไปแล้วก่อนหน้าแม้แต่นิดเดียวเป็นอันขาด

โดยสรุป เงื่อนไขสำคัญคือต้องออมเงินทุกเดือน (ตัวเลขที่จำง่าย ๆ คือ หากอัตราดอกเบี้ยคือร้อยละ 4 ต่อปี จะต้องเก็บออมเงินตั้งแต่อายุ 30 ปี เดือนละ 1,500 บาท) และไม่แตะต้องเงินออมที่สะสมไว้เลย เงินมีแขนมีขา หากเงินแขนขาด้วนกล่าวคือ ไม่มีการงอกเงยจากดอกเบี้ยเลย การจะได้เงิน 1 ล้านบาทมาครอบครองภายใต้เงื่อนไขของตัวเลขที่จำง่าย ๆ ข้างต้นจะต้องออมเงินถึงเดือนละ 2,778 บาทจำนวน 360 งวด (30 ปี) เมื่อเปรียบเทียบกับการออมเงินเพียงเดือนละ 1,500 บาท โดยมีดอกเบี้ยที่ช่วยทำให้เงินงอกเงยในเวลาเท่ากัน แต่ถ้าปราศจากการออม ผลก็คือ จะไม่มีเงิน  1 ล้านบาทเมื่อตอนอายุ 60 ปีเลย ความเป็นรูปธรรมของเงินที่งอกเงยเช่นนี้แหละ จึงพอเป็นหลักฐานโน้มน้าวใจให้คนเชื่อเรื่องการออมเงินและการให้เงินทำงานรับใช้ได้

    Choose :
  • OR
  • To comment