การวางแผนการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ การแต่งงาน

 

วันนี้ มีคำถามเกี่ยวกับการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์

จะแต่งงานครับ แหมช่างน่าอิจฉากันเสียจริง โดยคุณธนากรผู้ถามตั้งใจว่าจะแต่งงานสิ้นปีหน้าก่อนที่จะเข้าสู่การลงทุน ท่านจะต้องทราบก่อนว่าท่านมีค่าใช้จ่ายอะไรกันบ้างก่อนเข้าสู่ประตูวิวาห์การจัดงานมงคลสมรสนั้นก็ยากอยู่เหมือนกันนะครับ 


เริ่มจากทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันก่อนว่าจะจัดงานมงคลสมรสกันอย่างไรวันหมั้น วันพิธีสมรส และวันฉลองมงคลสมรสจัดแยกวันกันหรือเปล่า เพื่อให้สะดวกในการรวมญาติก็มักจะจัดให้เสร็จภายในวันเดียวกันค่าใช้จ่ายในงานมงคลสมรสนั้นมีหลายรายการ เริ่มจาก "ค่าโรงแรมหรือสถานที่จัดงาน"

ต่อไปก็ "ค่าอาหาร" คู่บ่าวสาวควรจะตกลงกันนะครับว่าจะเลี้ยงแขกเพราะมีให้เลือกหลายแบบหลายราคา เรื่องแบบอาหารนั้นท่าจะให้ดีปรึกษาผู้ใหญ่บ้างก็ดีนะครับ เพราะบางทีแขกของท่านผู้ใหญ่อยากได้ "โต๊ะจีน" นะครับอย่างนี้ถ้าไปจัดแบบค็อกเทลละก็เรื่องยาวเลยล่ะ

เมนูอาหารนี้ก็จะมีผลต่อราคาพอสมควรแต่ถ้าจัดที่โรงแรมก็จะค่อนข้างง่าย เพราะทางโรงแรมจัดเป็นเซตไว้เลย ค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 6,000 ถึง 15,000 บาท ต่อโต๊ะ(ประมาณ 10 คน) รวมค่าสถานที่ด้วย อ้ออย่าลืมค่าเครื่องดื่มด้วยว่าจะเลือกแบบใด น้ำอัดลม เบียร์ ไวน์ เหล้า ว่าแต่ว่าอย่าคิดนะครับว่าจัดแบบค็อกเทลจะถูกราคา ไม่ถูกหรอกเอาเป็นว่าดูทิศทางจากผู้ใหญ่ของท่านก่อนก็แล้วกัน

"การ์ดแต่งงานและของชำร่วย" ให้เจ้าสาวเลือกดีที่สุดเพราะเดี๋ยวจะเลือกแบบนั้นแล้วเดี๋ยวเปลี่ยนใจเลือกอีกแบบ ราคาก็หลากหลายมากๆ ตั้งแต่ไม่กี่บาทต่อชิ้นเป็นหลายๆ ร้อยบาทต่อชิ้นมีรูปแบบทุกอย่างแล้วแต่จะเลือกสรร และคิดค้น ผมประมาณว่า ค่าการ์ด สักแผ่นละ 40 บาท ของชำร่วย ชิ้นละ100 บาท บางครั้งไปเช่าชุดแต่งงานก็อาจจะมีแถมการ์ดให้ด้วย

"ชุดแต่งงาน" จะเลือกรูปแบบสากล ชุดไทย หรือเปิดหน้าหลัง จะเช่าตัด หรือเช่าธรรมดามีให้เลือกมากมาย หลายค่าใช้จ่าย ประมาณ 5,000 - 300,000 บาท แล้วแต่ความเลิศหรูอลังการ จากนั้นก็"ถ่ายภาพ" ท่านจะถ่ายภาพคู่ในสถานที่ หรือนอกสถานที่ มีบริการพร้อมท่านอย่าหลงเชื่อที่ราคาถูกๆ ตามห้างนะครับ เพราะท่านกำลังก้าวเข้าสู่วังวนของค่าใช้จ่ายอีกเพราะราคาถูกๆ เริ่มต้นนั้นแหละ จะทยอยปรับขึ้นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวถ่ายตรงนี้เพิ่ม ขอจำนวนสมุดภาพเพิ่มขอภาพขยายเท่าตัวคนจริงพร้อมกับกรอบรูปเพิ่ม จริงๆ ครับ เหมือนต่อเติมบ้านเลยครับค่าใช้จ่ายบานปลายเหลือเกิน ราคาก็ประมาณ10,000-120,000 บาท

ยังมีอีกครับ "ค่าแต่งหน้าทำผม" ก็ต้องมีช่างแต่งหน้าแต่งผมติดตามไปด้วยในวันงาน "ค่าเช่ารถ" รถรับเจ้าสาวในวันหมั้นกลับมาที่บ้าน และไปงานมงคลสมรสถ้าโชคดียืมเพื่อนก็ไม่เสียเงินเท่าไร อ้อท่านก็ต้องเติมน้ำมันคืนให้เต็มถังก็แล้วกัน มี "ค่าสมุดลงชื่ออวยพร" (ถ้าไม่อยากได้แบบธรรมดาที่โรงแรมจัดให้)กล่องใส่เงินที่เพื่อนๆ นำมาอวยพร รวมๆ ประมาณ 5,000 - 10,000 บาท

เห็นไหมครับ ยังไม่รวมสินสอดทองหมั้น "ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการยกขันหมาก" ประมาณ 10,000 - 20,000 บาท และ "ค่าประตูเงินประตูทอง" ตอนรับตัวเจ้าสาว ประมาณ 2,500-10,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายในงานแต่งงานประมาณ ตั้งแต่ 50,000 ถึง 500,000 บาท หรือมากกว่านั้นไม่รวมสินสอดทองหมั้น เห็นไหมครับว่าต้องใช้เงินมากพอสมควร

มาเข้าเรื่องคำถามว่าจะลงทุนอย่างไรดีคุณธนากร อายุประมาณ 30 ปีคิดว่าจะแต่งงานตอนปลายปีหน้า มีรายได้ประมาณปีละ7-9 แสนบาท(รวมโบนัสด้วย)คุณธนากรมีรายได้ค่อนข้างสูงพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับอายุ น่าอิจฉาจัง มีบ้าน(ผ่อนอยู่) มีรถยนต์(ผ่อนอยู่) ตามประสาคนรุ่นใหม่ที่ต้องผ่อนด้วยตนเอง และทรัพย์สินประมาณ 500,000 บาท ส่วนใหญ่ฝากระยะสั้นไม่เกินหนึ่งปี และหุ้นที่ขาดทุนประมาณ 6,000 บาท

ผมขอสรุปได้ว่าคุณธนากร เข้าใจเรื่องหุ้นบ้างแล้วล่ะครับ เพราะรู้จักคำว่า "ขาดทุนจากหุ้น" แล้ว ผมประมาณว่าคุณธนากรควรมีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนประมาณ 15,000 ถึง 20,000 บาท ดังนั้น ทุกเดือนก็จะมีกระแสเงินสดเข้ามาพอสมควรคุณธนากรอยากลงทุนระยะสั้นนั้น

ทีนี้ก็เข้าสู่กระบวนการจัดสรรเงินทุนเริ่มจาก คุณธนากร "ต้องเก็บไว้ประมาณ 6 -7 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน" จัดเก็บไว้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่มีรายได้หรือไม่สามารถทำงานได้ในระยะเวลาสั้นๆ ผมประมาณว่าคุณธนากรมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนประมาณ 35,000- 40,000 บาท

ดังนั้น จึงต้องมีเงินที่บริหารสภาพคล่องประมาณ 210,000- 240,000 บาท เงินส่วนนี้เก็บไว้ในที่สภาพคล่องสูงหน่อย เช่น "เงินฝากออมทรัพย์" หรือ "กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น" ได้ทั้งสองประเภทแล้วแต่เลือก เงินส่วนนี้จะได้ผลตอบแทนประมาณ 0.75-4.5%

คุณธนากรน่าจะจัดสรรเงินที่เหลือแต่ละเดือนลงทุนใน "หุ้น" ประมาณ 50% ถึง 60% ของเงินที่เหลือแต่ละเดือน (คาดว่าผลตอบแทนอยู่ประมาณ 5- 9% สำหรับหนึ่งปีข้างหน้า) แต่ไม่อยากให้ลงทุนระยะสั้นนะครับลงทุนสัก ปี

ส่วนตรงนี้เลือกลงทุนในหุ้นที่มีอัตราจ่ายเงินปันผลดีๆ สักครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งลงทุนในหุ้นที่น่าจะเติบโตสูงๆ (ธุรกิจที่กำลังจะฮอตหรือกำลังขยายการเติบโตเพื่อจะได้มีมูลค่ามากๆ ในระยะข้างหน้า) ก็ทยอยลงทุน ไปเรื่อยๆ ครับเดือนละ 5,000-10,000 บาท ไม่ต้องรวบรวมเงินแล้วซื้อครั้งเดียวทยอยซื้อหุ้นดีกว่าครับ เห็นหุ้นวันไหนตกมากๆ ก็เข้าซื้อ สักวันไหนหุ้นขึ้นๆ ก็หยุดพัก

หรือถ้าจะดีซื้อ "กองทุนรวมหุ้นระยะยาวLTF" ก็ดีเพราะได้ลงทุนในหุ้นแล้วยังได้สิทธิลดภาษีอีกลงให้เต็ม ตามโควตาเลยก็น่าจะดี เวลาซื้อก็ทยอยซื้อเหมือนเดิมครับ แถมได้สิทธิทางภาษีเต็มที่

ส่วนที่เหลือสัก 40% ถึง 50% ของเงินที่เหลือแต่ละเดือน ก็ลงทุนใน "เงินฝากประเภทบังคับฝากทุกเดือน" อัตราดอกเบี้ยจะสูงหน่อย ซึ่งธนาคารพาณิชย์หลายๆ แห่ง จะมีบริการนี้ ฝากเดือนละ 5,000-10,000 บาท ระยะเวลาประมาณ ปี อัตราผลตอบแทนก็ประมาณ 5-6%ไม่ต้องเสียภาษี แต่เบิกถอนระหว่างทางไม่ได้เท่านั้นครับ

ช่วงนี้คุณธนากรลงทุนแบบนี้ไปก่อน ไว้มีโบนัสก้อนใหญ่ก็สามารถนำไปลงทุนพันธบัตรระยะเวลาประมาณ 1- 3 ปี เป็นการกระจายการลงทุนให้เหมาะสมขึ้นหวังว่าคุณธนากรจะพอเห็นแนวทางการลงทุนเบื้องต้น

แต่ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น อัตราดอกเบี้ยมีการปรับเปลี่ยนมีจำนวนเงินเก็บเพิ่มขึ้น หรือตลาดหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องติดตาม และคอยปรับปรุงการลงทุนให้สอดคล้องต่อไปครับขอให้โชคดีมีความสุขในการแต่งงานนะครับ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

    Choose :
  • OR
  • To comment